ทาสแมวทั้งหลายเคยสงสัยหรือไม่ว่า…ทำไมอาหารแมวหรือแม้แต่ขนมแมวเกือบทุกยี่ห้อ จะต้องมีการเขียนระบุส่วนประกอบว่า “ใส่ทอรีนให้แล้วนะ น้องแมวกินแล้วไม่ขาดทอรีนแน่นอน!!!”
ตกลงแล้ว ทอรีนคืออะไรกันแน่ และมีความสำคัญในแมวอย่างไร วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
ทอรีน ( Taurine ) คืออะไร
ทอรีน (Taurine) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ไม่พบในพืช แต่พบได้ทั่วไปในเซลล์เนื้อเยื่อสัตว์และอาหารทะเล โดยเฉพาะในหัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง จอประสาทตา กล้ามเนื้อลาย และกรดน้ำดี ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ (ยกเว้นแมว) สามารถสังเคราะห์ทอรีน (Taurine) ได้
ความสำคัญของทอรีน (Taurine) ในแมว
ทอรีน (Taurine) มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์น้ำดีในแมว เพราะแมวจะใช้กรดอะมิโนชนิดนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นในการสังเคราะห์ ขณะที่สัตว์อื่น ๆ สามารถใช้กรดอะมิโนตัวอื่นนอกจากทอรีน (Taurine) ได้ เช่น ใช้กรดอะมิโนไกลซีน (Glycine) ในการสังเคราะห์น้ำดีทดแทน เป็นต้น
สำหรับความสามารถในการสังเคราะห์ทอรีน (Taurine) ในแมวพบว่ามีต่ำมาก เนื่องจากแมวขาดเอ็นไซม์ที่มีชื่อว่า Cysteinesulfunic acid decarboxylase ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์กรดอะมิโนตัวนี้ ดังนั้นอาหารแมวจึงต้องมีการเสริมทอรีน (Taurine) ในปริมาณสูง เพื่อให้แมวได้รับทอรีน (Taurine) เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลให้แมวมีสุขภาพที่ดีทั้งเรื่องของการมองเห็น การย่อยอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ปกติ ช่วยประคับประคองการตั้งท้องและการเจริญของตัวอ่อนให้สมบูรณ์ รวมถึงช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของน้องแมวเป็นปกติ
เพราะอะไรลูกแมวจึงควรเสริมทอรีน (Taurine) มากกว่าทุกช่วงวัย
ลูกแมวแรกเกิดจำเป็นต้องเสริมทอรีน (Taurine) มากกว่าแมวโตเต็มไว เพราะทอรีน (Taurine) มีผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย สำหรับลูกแมวที่เกิดจากแม่ที่ขาดทอรีน (Taurine) จะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ และมีอัตราการโตช้ากว่าลูกแมวที่เกิดจากแม่แมวที่มีทอรีน (Taurine) เพียงพอ นอกจากนี้ยังพบว่าลูกแมวที่ขาดทอรีน (Taurine) จะน้ำหนักสมองน้อยกว่าและสมองมีขนาดเล็กกว่าปกติ ทั้งตอนแรกคลอดจนกระทั่งเข้าสู่ระยะหย่านม (เมื่อแมวอายุได้ 8 สัปดาห์)
ในช่วงระยะให้นมของแม่แมว พบว่าความแตกต่างของระดับทอรีน (Taurine) ในร่างกายแม่แมว จะมีผลต่อความเข้มข้นของปริมาณทอรีน (Taurine) ในน้ำนม ซึ่งความเข้มข้นของทอรีน (Taurine) ในน้ำนมนั้น มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตและอัตราการเจริญเติบโตของลูกแมวอีกด้วย นอกจากนี้ทอรีน (Taurine) ยังมีบทบาทต่อพัฒนาการของสมองซึ่งพบว่าในแม่แมวที่ขาดทอรีน (Taurine) จะส่งผลทำให้ลูกแมวมีอาการของโรคหัวบาก (Hydrocephalus) และไม่มีการพัฒนาของสมอง (Anencephaly) อีกด้วย
บทบาทสำคัญของทอรีน (Taurine) ต่ออวัยวะต่าง ๆ
ทอรีน (Taurine) กับจอประสาทตา
จอประสาทตา (Retina) เป็นอวัยวะที่ต้องการทอรีน (Taurine) สูงมาก เพราะมีองค์ประกอบที่ต้องการกรดอะมิโนชนิดนี้อยู่ถึง 100-400 เท่าของปริมาณทอรีน (Taurine) ที่อยู่ในกระแสเลือด ในปี ค.ศ.1975 Hayes และคณะได้แสดงให้เห็นว่า การเกิดจอประสาทตาเสื่อมมีความเกี่ยวข้องกับการขาดทอรีน (Taurine) ในสัตว์ตระกูลแมว และพบว่าในแมวที่ขาดทอรีน (Taurine) เป็นเวลานาน มีการเหนี่ยวนำให้เกิดการเสื่อมสภาพในจอประสาทตา (Retina) ของตาทั้งสองข้างอย่างเป็นลำดับขั้น และจะทำให้แมวตาบอดได้ภายใน 2 ปี เนื่องจากทอรีน (Taurine) มีความสำคัญที่น่าจะเป็นไปได้ในการปกป้องเซลล์รับแสง และมีผลในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระด้วย
ทอรีน (Taurine) กับกล้ามเนื้อหัวใจ
หัวใจเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่มีต้องการระดับของทอรีน (Taurine) ในปริมาณสูง เมื่อใดก็ตามที่ทอรีน (Taurine) ภายในเซลล์หัวใจลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น อาจเกิดจากการกินอาหารที่มีทอรีน (Taurine) ต่ำ จะมีผลให้หัวใจมีการหดตัวที่ผิดปกติไปและผลที่ตามมาคือ เกิดการขยายใหญ่ของกล้ามเนื้อหัวใจ (เกิดภาวะ dilated cardiomyopathy; DCM ) และทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวตามมาและตายได้
ทอรีน (Taurine) กับระบบย่อยอาหาร
เนื่องจากแมวใช้ทอรีน (Taurine) เท่านั้นในการสังเคราะห์น้ำดี ถ้าขาดทอรีน (Taurine) หรือมีปริมาณไม่เพียงพอ ก็จะมีผลทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์น้ำดีได้ ซึ่งจะทำให้การย่อยอาหารกลุ่มไขมันมีประสิทธิภาพแย่ลง สำหรับแมวที่ขาดทอรีน (Taurine) นั้นมักแสดงอาการชัดเจน เมื่อแมวขาดทอรีนนาน 5 เดือนขึ้นไป
จะเห็นได้ว่าแมวเป็นสัตว์พิเศษที่มีความแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นมาก ดังนั้นจึงต้องมีความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหารการกินที่เค้าต้องกินทุกวัน เพราะถ้าเราไม่ใส่ใจตั้งแต่ตอนนี้ รู้ตัวอีกทีอาจแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วนะคะ
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: เชื้อราแมวติดคนได้ ลักษณะแมวเป็นเชื้อราดูยังไง
แหล่งอ้างอิง: Taurine in Cats
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์