เจ้าของสัตว์: “หมอคะ…แค่ท้องเสียนี่ถึงตายเลยเหรอ ?”
เจ้าของบางคนอาจมองว่า การถ่ายเหลวของน้องหมาน้องแมวเป็นเรื่องเล็ก ๆ เพราะยังเห็นน้องร่าเริงดี ไม่นานก็คงหายป่วยไปเอง แต่จริง ๆ แล้วปัญหาแมวและสุนัขท้องเสียมีความน่ากังวลพอสมควร เพราะจะมีการสูญเสียน้ำและสารอาหารออกจากร่างกายทุกครั้งที่เกิดการขับถ่าย ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงมีการถ่ายเหลวเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสที่ร่างกายจะขาดน้ำจนถึงแก่ชีวิตได้
สิ่งต่อไปนี้ใช้ตัดสินแมวและหมาท้องเสีย
เพื่อให้เจ้าของสามารถตัดสินใจได้ว่า…ควรพาน้องมาพบสัตวแพทย์หรือไม่ และการท้องเสียของสัตว์อยู่ในขั้นวิกฤติแค่ไหน มารู้จักกับปัจจัยที่ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดภาวะท้องเสียอย่างรุนแรงกัน
แนะนำบทความที่น่าสนใจ :
1. อายุของแมวและหมามีผลต่อการท้องเสีย
ลูกสัตว์หรือสัตว์ที่อายุเยอะ มักทนต่อการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุจากการท้องเสียได้ไม่นานมาก โดยเฉพาะน้องหมาน้องแมวที่มีน้ำหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม แค่ท้องเสียหรืออาเจียนเพียงไม่กี่ครั้ง ก็สามารถทำให้อาการทรุดลงได้ ดังนั้นเจ้าของไม่ควรประมาทกับช่วงวัยดังกล่าว หากพบการถ่ายเหลวควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที
2. ความถี่ของการถ่ายเหลว หรือการอาเจียนของสัตว์เลี้ยง
เพื่อให้เจ้าของสามารถประเมินอาการของสัตว์เลี้ยงได้ในเบื้องต้น การนับความถี่ของการถ่ายเหลวหรืออาเจียนต่อวัน จะเป็นหนึ่งในวิธีการเพื่อใช้ในการตัดสินใจพาน้องหมาน้องแมวมาพบคุณหมอ ได้แก่
- สัตว์เลี้ยงถ่ายอุจจาระหรืออาเจียนมากกว่า 3 ครั้ง ภายใน 4 ชั่วโมง
- ท้องเสียมากกว่า 5 ครั้งต่อวัน
***การนับจำนวนครั้ง จะต้องนับเฉพาะกรณีที่มีการท้องเสียหรืออาเจียนพร้อมกับมีเศษอาหารหรือน้ำย่อยติดออกมาเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการอาเจียนมักทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการทรุดลงได้มากกว่าภาวะท้องเสีย แต่หากเจ้าของพบว่าน้องหมาน้องแมวมีอาการไม่ดี แม้ว่าจะยังไม่อยู่ในเกณฑ์ของระดับความรุนแรง แนะนำให้รีบพาไปพบคุณหมอทันที
3. แมวและหมาท้องเสียแบบมีเลือดปน
การถ่ายเหลวปนเลือด จะทั้งแบบที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ แต่หากเกิดจากกรณีแรกและมีการเลี้ยงสัตว์ในบ้านรวมกันหลายตัว มีโอกาสที่โรคจะเกิดการติดต่อไปยังสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ได้ เช่น โรคลำใส้อักเสบในสุนัข หรือไข้หัดในแมวซึ่งทั้งสองโรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ดังนั้นหากพบว่ามีน้องหมาน้องแมวถ่ายเหลวปนเลือด แนะนำให้เจ้าของแยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ในบ้านเพื่อป้องกันการติดต่อของโรค
4. สัตว์เลี้ยงเบื่ออาหารมากกว่า 2 วันขึ้นไป
ในช่วงต้นของการท้องเสีย เจ้าของอาจพบว่าน้องหมาน้องแมวมีอาการเบื่ออาหาร ซึ่งในวันแรก ๆ ของการหยุดกินอาหารจะยังไม่มีผลเสียต่อร่ายกายมากนัก แต่หากน้องไม่ยอมกินอะไรเข้าไปเลยมากกว่า 2 วัน จะเกิดการฝ่อตัวของวิลไล (Villi) ซึ่งอยู่ที่ผนังลำไส้ ทำให้การดูดซึมสารอาหารเกิดขึ้นไม่ได้ ส่งผลให้ร่างกายของสัตว์ทรุดโทรมลงไป
5. เมื่อสัตว์ท้องเสีย มักพบอาการปวดเกร็งช่องท้องร่วมด้วย
เนื่องจากน้องหมาน้องแมวไม่สามารถพูดบอกเราได้ ดังนั้นเจ้าของสามารถสังเกตความผิดปกติของสัตว์เลี้ยงโดยดูจากท่าทางการนอน ซึ่งสัตว์ที่มีอาการปวดท้องมักจะนอนขดตัวหรือเหยียดขาร้องคราง และมักนอนทั้งวันเนื่องจากความเจ็บปวด เมื่อกดลงไปยังบริเวณท้องของสัตว์จะพบการเกร็งท้องสู้กับนิ้วมือ หรือมีเสียงคล้ายแก๊สอยู่ภายในช่องท้อง หากเจ้าของพบความผิดปกติดังกล่าว แนะนำให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจอันตรายถึงชีวิตน้องได้
6. แมวและหมาท้องเสียจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
เมื่อสัตว์เกิดการท้องเสียหรืออาเจียนอย่างรุนแรง พบว่าร่างกายจะมีการสูญเสียน้ำออกมาปริมาณมาก เจ้าของสามารถทดสอบว่าน้องหมาน้องแมวมีภาวะขาดน้ำหรือไม่ ด้วยการดึงหนังบริเวณคอของสัตว์ซึ่งหากมีปัญหาขาดน้ำ จะพบว่าหนังคอที่ดึงขึ้นมายังคงตั้งชันค้างไว้ กรณีนี้แนะนำให้เจ้าของรีบพาน้องไปหาคุณหมอเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ ซึ่งสัตว์เลี้ยงไม่สามารถฟื้นฟูได้ด้วยตัวเอง แม้จะเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำเข้าไปเท่าไหร่ก็ตาม
การรักษาเบื้องต้นสำหรับแมวและหมาท้องเสีย กรณีไม่สะดวกพาไปหาหมอ
บางครั้งเราพบว่า น้องป่วยในช่วงเวลาที่โรงพยาบาลปิดแล้ว ทำให้ต้องรอข้ามวันเพื่อพาสัตว์ไปหาคุณหมอ คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อให้เจ้าของประคับประคองอาการได้มีดังนี้
1. งดน้ำงดอาหารสัตว์ท้องเสีย
โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการอาเจียนร่วมด้วย ให้รีบงดน้ำและอาหารโดยทันที เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้สัตว์มีอาการอาเจียนมากยิ่งขึ้น
2. ทดลองให้อาหารปริมาณเล็กน้อย หลังจากอาการท้องเสียเริ่มดีขึ้น
หลังจากงดน้ำงดอาหารมาระยะนึงแล้ว (ประมาณ 12-24 ชั่วโมง) สัตว์ไม่แสดงอาการอาเจียนหรือท้องเสียออกมาอีก ให้ทดลองป้อนอาหารให้น้องกิน โดยเริ่มจากปริมาณอาหารไม่มาก (25% ของอาหารมื้อปรกติ) แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณจนเต็มที่ในมื้อถัดไป
กรณีอาการอาเจียนยังคงมีอยู่ภายหลังงดน้ำงดอาหารแล้ว เจ้าของไม่จำเป็นต้องบังคับให้สัตว์กินอาหารหรือน้ำเข้าไปอีก แต่ให้หาพลังงานบางอย่างมาเสริมทดแทนมื้ออาหาร เพื่อไม่ไห้น้องขาดพลังงานมากจนเกินไป การใช้น้ำผึ้งป้ายที่กระพุ้งแก้มสัตว์ถือเป็นหนึ่งในวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เนื่องจากน้ำผึ้งมีพลังงานสูงและยังสามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้อย่างรวดเร็ว จึงเหมาะแก่การให้สัตว์ป่วยได้กิน ไม่แนะนำให้ป้อนนมน้องหมาน้องแมว เนื่องจากนมย่อยยาก ทำให้ยิ่งกระตุ้นการอาเจียนออกมามากยิ่งขึ้น
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
แหล่งอ้างอิง: A Survival Guide for Dog Diarrhea
นสพ. อนรรฆ เกรียงศิริ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์