เพื่อน ๆ เคยได้ยินเรื่องโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ในน้องหมากันมั้ยคะ เป็นโรคยอดฮิตที่พบการเสียชีวิตบ่อยมากในหน้าร้อน โดยเฉพาะเดือนเมษายนและพฤษภาคมของทุกปีที่อุณหภูมิเมืองไทยจะพุ่งสูงเกิน 37 องศาเซลเซียส วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอันตรายที่เกิดจากโรคนี้กัน
โรคฮีทสโตรกสุนัข (Heat Stroke) คืออะไร
โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) คือ ภาวะที่ร่างกายของสุนัขมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าปกติ โดยที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของโรคหรือการเป็นไข้แต่อย่างใด สำหรับอุณหภูมิทั่วไปของสุนัขจะอยู่ที่ 38-39 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเกิดภาวะฮีทสโตรกอาจวัดได้ถึง 40-41 องศาเซลเซียส โรคนี้คล้ายกับการเกิดลมแดดในคน ที่เมื่ออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานจะมีภาวะช็อคเป็นลมหมดสติได้
ทำไมสุนัขถึงเป็นโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้
โรคฮีทสโตรกเกิดจากสุนัขอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นเวลานาน ร่วมกับร่างกายอาจมีภาวะขาดน้ำด้วย เป็นผลให้น้องเกิดภาวะช็อคเป็นลมหมดสติไป ซึ่งบางครั้งอาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากสุนัขเป็นสัตว์ไม่มีต่อมเหงื่อ เมื่อเกิดการสะสมความร้อนขึ้นในร่างกายจะไม่สามารถระบายออกได้ไวเท่ากับในคน การขับความร้อนของสุนัขมีเพียงวิธีหอบหายใจผ่านช่องปาก และการระบายไอร้อนผ่านฝ่าเท้าเท่านั้น ซึ่งจะใช้เวลานาน กว่าที่อุณหภูมิร่างกายจะลดลงจนเป็นปกติที่ 38-39 องศาเซลเซียส
ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เป็นโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
นอกจากอากาศที่ร้อนอบอ้าวแล้ว โรคฮีทสโตรกยังสามารถเกิดได้จากการนำไดร์เป่าร้อนมาใช้หลังการอาบน้ำให้น้องหมา รวมถึงเราจะพบโรคนี้ได้บ่อย ๆ ในน้องหมาที่อ้วน สุนัขพันธุ์ขนยาว เช่น ไซบีเรียน ฮัสกี้ และกลุ่มสุนัขพันธุ์หน้าสั้น ที่มักมีปัญหาทางเดินหายใจส่วนต้นตีบแคบ เช่น ปั๊ก เฟร้นช์ บูลด็อก หรือ อิงลิช บูลด็อก เนื่องจากการระบายความร้อนที่ไม่ดีเมื่อเทียบกับสุนัขสายพันธุ์ทั่ว ๆ ไป
สำหรับน้องหมาที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจหรือโรคปอด ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฮีทสโตรกได้เช่นกัน เนื่องจากปัญหาการไหลเวียนเลือดเพื่อระบายความร้อนทำได้ไม่ดีนัก
อาการของโรคฮีทสโตรกสุนัข (Heat Stroke) ที่เจ้าของสามารถสังเกตได้เอง
เพื่อให้เจ้าของเอะใจกับความผิดปกติของน้องหมา และสามารถช่วยเหลือน้องได้ทันก่อนเกิดภาวะช็อคหมดสติ อาการที่เราสามารถสังเกตได้มีดังนี้
- หอบหายใจเร็วและรุนแรง เมื่อเอามือไปอังที่จมูกจะมีลมร้อนผิดปกติ
- น้ำลายไหลย้อยออกมาตามปาก
- สุนัขบางตัวมีอาการอาเจียนออกมา
- เหงือกสีแดงเข้มขึ้น ต่างจากสุนัขปกติที่เป็นสีอมชมพู
- พบจุดเลือดออกตามผิวหนังทั่วร่างกาย
- เดินเซไปมา คล้ายมีอาการเมา
- กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง พบการกระตุกได้
- เป็นลม หรือชัก ก่อนหมดสติฉับพลัน
วิธีตรวจสอบสุนัขว่าเป็นโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือไม่
สิ่งที่ทำให้น้องเกิดภาวะของโรคนี้ คือ การที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติมาก ดังนั้นเมื่อพบอาการต้องสงสัยดังกล่าว ให้เจ้าของรีบทำการตรวจเช็คดังนี้
1. ตรวจวัดความร้อนในร่างกาย
ตรวจได้ด้วยการใช้มือเข้าไปสัมผัสตัวน้อง จุดที่แนะนำให้เจ้าของตรวจสอบ คือ ตามขาหนีบของสุนัขซึ่งจะสามารถวัดความร้อนที่ผิดปกติได้ อย่างไรก็ตามแนะนำให้เจ้าของใช้ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกายของสุนัขร่วมด้วย ซึ่งหากมีค่าที่สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสจะถือว่าน้องมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ วิธีแก้ไขคือ ให้รีบลดความร้อนออกจากร่างกายของสุนัขและพาไปพบคุณหมอโดยด่วน
2. ตรวจสอบภาวะขาดน้ำในสุนัข
ตรวจสอบภาวะขาดน้ำในสุนัข โดยทดลองดึงหนังบริเวณหลังคอของน้องขึ้นมา หากพบว่าหนังไม่ยืดหยุ่น ยังคงตั้งชันแม้เราปล่อยมือแล้ว นั่นแสดงว่าน้องกำลังมีภาวะขาดน้ำ ควรรีบหาน้ำให้น้องดื่ม หรือป้อนน้ำให้น้องทันที
การปฐมพยาบาลช่วยเหลือสุนัขที่ช็อคหมดสติจากโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
เมื่อพบว่าน้องนอนหมดสติจากโรคลมแดด สิ่งสำคัญอันดับแรกที่เจ้าของต้องเร่งให้การช่วยเหลือคือ “การลดความร้อนในร่างกายสุนัข” โดยนำน้องออกจากบริเวณที่มีอากาศร้อน หาพัดลมเป่าเพื่อระบายอากาศ และหากน้องมีปลอกคอหรือเสื้อผ้าสวมใส่ให้รีบทำการถอดออกไป เพื่อลดความอึดอัดและระบายความร้อนได้มากขึ้น
หาผ้าชุบน้ำมาเช็ดบริเวณใต้ฝ่าเท้า รักแร้ ขาหนีบ และท้อง เพื่อช่วยลดความร้อนออกจากตัวสัตว์ ไม่แนะนำให้ใช้น้ำแข็งหรือน้ำที่เย็นจัด!!! เพราะร่างกายน้องอาจปรับลดอุณหภูมิไม่ทันจนเกิดสภาวะช็อคได้ ทำการเช็ดตัวสุนัขซ้ำ ๆ พร้อมกับนวดไปตามขาเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เมื่อแน่ใจแล้วว่าร่างกายน้องเริ่มมีอุณหภูมิที่ลดลง ให้รีบพาน้องไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุของปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติม
เราจะป้องกันโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ในสุนัขได้อย่างไร
เมื่อเข้าเดือนที่มีอากาศเริ่มร้อนของปี เจ้าของต้องคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติของน้องหมา โดยเฉพาะหากน้องมีน้ำหนักตัวที่เยอะ เป็นพันธุ์ขนยาว หรือพันธ์ุหน้าสั้นจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้บ่อยกว่าสุนัขโดยทั่วไป การป้องกันโรคลมแดดทำได้ดังนี้
- จัดหาบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทให้น้องอยู่ เช่น ใต้ร่มไม้ที่สามารถบดบังแสงแดดได้ หรือโรงจอดรถ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการพาน้องไปเดิน หรือออกกำลังที่หนักจนเกินไปท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว
- หากมีการพาน้องออกไปเจอกับอากาศที่ร้อนมา ให้รีบใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดฝ่าเท้าเพื่อระบายความร้อนช่วย
- เพิ่มจุดวางน้ำให้น้องกิน อาจใส่น้ำแข็งลงไปซักก้อนเพื่อให้น้ำมีความเย็นขึ้น จะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายน้องได้ พยายามกระตุ้นน้องให้กินน้ำบ่อย ๆ หากน้องไม่ค่อยกินน้ำเจ้าของอาจจำเป็นต้องป้อนเสริม
สำหรับน้องหมาพันธุ์ขนยาว หน้าร้อนนี้หมอแนะนำให้ตัดขนน้องให้สั้นลงจะช่วยให้การสะสมความร้อนในร่างกายลดลงได้เช่นกัน ขอให้น้องหมาทุกตัวปลอดภัยจากไอร้อนภัยร้าย โรคลมแดดที่มักมาในช่วงหน้าร้อนของทุก ๆ ปีค่ะ หมอหวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของในการดูแลสุขภาพสุนัข
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: 7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับเรื่องสุนัขปอดอักเสบ
แหล่งอ้างอิง: Heat Stroke in Dogs
สพ.ญ. จันทร์จรัส ปิยะพรมดี
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์