โดยทั่วไปแล้ว ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะในสัตว์เลี้ยง เจ้าของจะสามารถสังเกตเห็นได้เอง เมื่อน้องมีอาการปัสสาวะลำบาก ปวดเบ่งเวลาปัสสาวะ รวมไปถึงปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น ปนเลือด ปนหนอง เป็นต้น
แต่ในกรณีที่น้องหมาน้องแมวแสดงอาการบางอย่างผิดปกติไป เช่น ฉี่เยอะและบ่อยกว่าทุกครั้ง รวมถึงสีของฉี่ก็ดูใสเกินกว่าปกติ และมีการกินน้ำที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้เจ้าของจะไม่แน่ใจ และอาจสงสัยว่า…จริง ๆ แล้วมันคือภาวะปกติในสัตว์เลี้ยงหรือไม่ หรือกำลังเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเจ็บป่วยบางอย่างในร่างกายของน้องหมาน้องแมว วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
ปริมาณการกินน้ำและปัสสาวะปกติของหมาแมว
ก่อนที่เราจะไปหาสาเหตุของการกินน้ำเยอะมากผิดปกติในสัตว์เลี้ยง เราต้องรู้ก่อนว่า…ปริมาณปัสสาวะเยอะขนาดไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ?
1. ปริมาณปัสสาวะปกติของหมาแมวคือเท่าไหร่
- สำหรับในสุนัข ปริมาณปัสสาวะปกติจะอยู่ที่ประมาณ 20-40 ซีซีต่อกิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 1-2 ซีซีต่อกิโลกรัมต่อชั่วโมง ถ้าพบว่าสุนัขมีปัสสาวะมากกว่า 50 ซีซีต่อกิโลกรัมต่อวัน จะถือว่ามีปัสสาวะมากผิดปกติ เรียกว่ามีภาวะ Polyuria ( PU ) นั่นเอง เช่น สุนัขปกติที่หนัก 10 กิโลกรัม ควรจะมีปริมาณปัสสาวะโดยเฉลี่ย 200-400 ซีซีต่อวัน ถ้าเกินจากปริมาณนี้แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา
- สำหรับในแมว ปริมาณปัสสาวะปกติจะอยู่ที่ประมาณ 28 ซีซีต่อกิโลกรัมต่อวัน ถ้าแมวมีปัสสาวะมากกว่า 40 ซีซีต่อกิโลกรัมต่อวัน ก็จะถือว่ามีปัสสาวะมากผิดปกติ ( PU ) เช่นกัน ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา
2. ปริมาณการกินน้ำปกติของหมาแมวคือเท่าไหร่
ในสภาวะที่อากาศร้อนจัด เราอาจเห็นน้องหมาน้องแมวมีการปัสสาวะออกไปมากกว่าปกติ ซึ่งร่างกายก็จะมีการกระตุ้นให้กินน้ำเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย กรณีนี้จะถือว่าเป็นเรื่องปกติจากสภาวะอากาศ แต่หากเจ้าของสังเกตเห็นความผิดปกติของสัตว์เลี้ยง เช่น น้องกินน้ำบ่อยกว่าเพื่อนสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ที่เลี้ยงอยู่ในสิ่งแวดล้อมคล้ายกัน ให้ทำการตรวจเช็คระดับการกินน้ำต่อวันดังนี้
ถ้าสุนัขกินน้ำมากกว่า 100 ซีซีต่อกิโลกรัมต่อวัน และแมวกินน้ำมากกว่า 50 ซีซีต่อกิโลกรัมต่อวัน อาจถือได้ว่ามีภาวะกินน้ำมากผิดปกติ หรือ Polydipsia ( PD ) นั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ทั้งการขับถ่ายปัสสาวะมากผิดปกติ (PU) และการดื่มน้ำมากผิดปกติ (PD) ทั้ง 2 อาการนี้มักเกิดคู่กัน แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่โน้มนำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ เรามาหาสาเหตุกัน
สาเหตุที่แมวและสุนัขกินน้ำเยอะ ฉี่เยอะ (PU/PD)
โรคไต
เมื่อสุนัขและแมวมีอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะ (PU/PD) สิ่งแรกที่สัตวแพทย์มักสงสัย คือภาวะที่ไตทำงานผิดปกติหรือไตเสื่อม เพราะจะทำให้น้ำที่ถูกกรองและขับออกจากร่างกายมีปริมาณมากขึ้น รวมทั้งไตดูดกลับน้ำได้น้อยลง ดังนั้นปัสสาวะที่ออกมาจะมีปริมาณมากและค่อนข้างใส ทำให้ร่างกายเริ่มขาดน้ำและสัตว์จะปรับตัวโดยกินน้ำมากขึ้นนั่นเอง
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้สัตว์มีอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะได้เช่นกัน เนื่องจากโรคนี้จะทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเมื่อน้ำตาลอยู่เกินกว่าระดับที่ไตจะกักเก็บดูดกลับไว้ได้ น้ำตาลจะหลุดรอดปนออกมากับปัสสาวะมาก ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงและเพิ่มการดึงน้ำออกมากับปัสสาวะ ทำให้ปริมาณปัสสาวะสูงขึ้นนั่นเอง
โรคตับ
ตับเป็นอวัยวะสำคัญในร่างกาย ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นโรงงานย่อยสลายขยะ โดยจะทำการเปลี่ยนสารต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกายรวมถึงฮอร์โมนอีกหลายชนิด เพื่อย่อยสลายออกไปจากร่างกาย ดังนั้นเมื่อตับทำงานผิดปกติ ทั้งจากการเกิดตับอักเสบ ภาวะตับแข็ง ไขมันพอกตับ ไปจนถึงตับวาย ทั้งหมดนี้อาจทำให้เกิดอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะได้ โดยมีสาเหตุของความเป็นไปได้ ดังนี้
- ตับที่ทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดการสร้างยูเรีย ( Urea ) หรือน้ำปัสสาวะได้น้อยลง
- เกิดการเพิ่มขึ้นของสารเรนิน ( Renin ) คอร์ติซอล ( Cortisol ) และฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosteron)
- ร่างกายจะมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
ซึ่งสาเหตุของโรคตับที่พูดมานี้ ทำให้สัตว์เกิดอาการกินน้ำเยอะฉี่เยอะได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสารบางอย่างและฮอร์โมนบางตัวที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลน้ำในร่างกายนั่นเอง
มดลูกอักเสบ
ภาวะมดลูกอักเสบ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้น้องหมาน้องแมวเกิดอาการกินน้ำเยอะฉี่ สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
- สารพิษที่ผลิตโดยตรงจากเชื้อแบคทีเรีย E. coli ซึ่งเป็นเชื้อหลักที่ทำให้เกิดภาวะมดลูกอักเสบ โดยสารพิษจะเข้าไปรบกวนการดูดกลับโซเดียม รวมทั้งทำลายตัวรับฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Antidiuretic hormone (ADH) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย
- ปฏิกิริยาระหว่างตัวเชื้อโรคและภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมบุกรุกเข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่เร่งการกำจัดเชื้อโรคออกไป ด้วยการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการทำลายล้าง สารนี้มีผลต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายของสัตว์ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ เช่น ไตอักเสบ (glomerulonephritis) ซึ่งเป็นผลให้เกิดภาวะที่ร่างกายขับปัสสาวะมากกว่าปกติ และกินน้ำเยอะเพื่อรักษาสมดุลน้ำตามมาได้
โรคฮอร์โมน
ฮอร์โมนบางอย่าง เมื่อเกิดการเสียสมดุลไปไม่ว่าจะเกิดจากสภาวะของโรค หรือการได้รับสารบางอย่างเข้าไปในร่างกาย จะมีผลทำให้เกิดอาการกินน้ำเยอะฉี่ได้ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ และโรคเนื้องอกต่อมหมวกไต หรืออาการคุชชิง (Cushing Syndrome) เป็นต้น
แร่ธาตุไม่สมดุล
ระดับแร่ธาตุที่สูงกว่าปกติ เช่น ระดับแคลเซียมในเลือด หรือการมีโพแทสเซียมต่ำกว่าปกติ จะทำให้สัตว์แสดงอาการกินน้ำเยอะฉี่ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถตรวจสอบภาวะเหล่านี้ได้ด้วยการตรวจเลือดสัตว์เพื่อหาระดับแร่ธาตุดังกล่าว
นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองหรือความผิดปกติบางอย่างของระบบประสาท อย่างไรก็ตามบทความนี้ หมอตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อที่จะบอกเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านว่า อาการหมาแมวกินน้ำเยอะ ฉี่บ่อย ถ้าเจ้าของเห็นว่าผิดปกติ อาจจะเป็นอาการหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ร่างกายของน้องหมาน้องแมวกำลังไม่สบายอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลย และควรรีบหาสาเหตุเพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: 7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับเรื่องสุนัขปอดอักเสบ
แหล่งอ้างอิง: Approach to Polyuria and Polydipsia in the Dog
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์