แม่จ๋า…หนูหายใจไม่ออก!!!
ความยากลำบากอย่างหนึ่งที่เจ้าของสัตว์ทุกคนต้องเจอเมื่อน้องป่วย คือ ต้องเดาว่า…อาการที่แสดงออกอยู่นี้ คือความผิดปกติที่ต้องรีบพาไปพบคุณหมอหรือไม่ เพราะสัตว์เลี้ยงพูดไม่ได้ ดังนั้นบางครั้งทำให้เจ้าของประเมินความรุนแรงของโรคไม่ออก และกว่าจะรู้ตัวอีกทีน้องก็ป่วยหนักเสียแล้ว
สำหรับโรคทางเดินหายใจ ถือเป็นหนึ่งในโรคที่สังเกตอาการได้ค่อนข้างยาก แต่กลับเป็นโรคสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ทำให้เจ้าของต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักไป ดังนั้นหากเจ้าของได้เรียนรู้ถึงสัญญาณอันตรายเบื้องต้นที่น้องหมาน้องแมวแสดงออกมา เช่น อาการหมาแมวจาม เป็นต้น และรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษา จะทำให้มีโอกาสหายจากโรคได้ และช่วยยืดอายุของสัตว์เลี้ยงให้อยู่กับเราไปนาน ๆ
แมวจาม แมวจาม สาเหตุเกิดจากอะไร
1. แมวจาม หมาจาม จากจมูกมีน้ำมูกใส
จมูกของสัตว์เลี้ยงที่สุขภาพดีจะมีความชุ่มชื้นนิด ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเจ้าของสังเกตได้ว่าจมูกของน้องแห้งผิดปกติจนเกินไป จึงมักพาน้องมาโรงพยาบาล แต่ในทางกลับกันกรณีที่จมูกของสัตว์เลี้ยงมีน้ำมูกมากเกินกว่าปกติ เจ้าของหลาย ๆ คนมักไม่ทันได้สังเกต หรือมองว่าเป็นภาวะปกติของหมาแมว ซึ่งจริง ๆ แล้วนี่ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีของระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน
สำหรับสุนัขบางสายพันธุ์โดยเฉพาะพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊กหรือเฟรนช์บูลด็อก จะแยกความผิดปกติจากน้ำมูกที่ไหลออกมาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากโดยปกติแล้วสุนัขกลุ่มนี้มักมีน้ำมูกไหลออกมาได้บ้าง ในกรณีที่น้องนอนอยู่ในห้องแอร์ หรือหลังจากพาไปเดินเล่นออกกำลังกายมา ดังนั้นเพื่อให้สามารถแยกความผิดปกติได้ในสุนัขกลุ่มนี้ เจ้าของสัตว์จำเป็นต้องรู้ปริมาณการไหลของน้ำมูกในช่วงที่น้องสุขภาพสมบูรณ์ดีเสียก่อน
แนะนำบทความที่น่าสนใจ : 7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับเรื่องสุนัขปอดอักเสบ
สำหรับลักษณะของน้ำมูกที่บ่งบอกถึงผิดปกติ ซึ่งเจ้าของสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง ได้แก่
- น้ำมูกมีความเหนียวคล้ายนมข้นหวาน
- น้ำมูกมีลิ่มเลือดปนออกมา
- สีของน้ำมูกเปลี่ยนไป เช่น พบเป็นสีชมพูอ่อน ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคปอดบวมในสัตว์
ทั้งหมดนี้หากพบในสัตว์เลี้ยง ถือเป็นความผิดปกติที่เจ้าของไม่ควรนิ่งเฉย ให้รีบพาน้องมาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
2. หมาแมวจามไม่หยุด
ในสัตว์เลี้ยงการจามจะสังเกตได้ง่ายและมีลักษณะคล้ายกับคน คือ สัตว์จะสะบัดหัว พ่นน้ำมูกออกมาทางจมูก และมีเสียงดังจิ้ว ๆ โดยทั่วไปแล้วการจามเป็นเพียงการบอกถึงความผิดปกติเพียงเล็กน้อยในระบบทางเดินหายใจ ไม่ได้อันตรายรุนแรงแต่อย่างใด สำหรับ 5 สาเหตุของความผิดปกติที่พบได้เมื่อหมาแมวจาม ได้แก่
- เป็นหวัดธรรมดา
- อาการภูมิแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ
- พบภาวะติดเชื้อในทางเดินหายใจ
- โรคโพรงจมูกอักเสบ
- โรคมะเร็งในปอด
นอกจากนี้การจามอาจหมายถึง สัตว์รู้สึกระคายเคืองทางเดินหายใจและพยายามพ่นขับสิ่งที่อยู่ในโพรงจมูกออกไป จากประสบการณ์ส่วนตัวของหมอ การที่น้องหมาน้องแมวไม่จามแต่พบมีน้ำมูกไหลผิดปกติออกมา ถือเป็นสัญญาณอันตรายมากกว่า เพราะอาจหมายถึงสัตว์เลี้ยงมีภาวะอ่อนแอมากจนไม่มีแรงในการขับพ่นสิ่งผิดปกติออกมา
3. หมาแมวจามย้อน (Reverse sneezing)
จริง ๆ แล้วอาการนี้ไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการในไทย มันคือการสูดลมกลับเข้าไปในโพรงจมูกคล้าย ๆ กับคนบางคนที่จมูกมีน้ำมูกออกมาเล็กน้อย ก็อาศัยการสูดกลับเข้าไปบ้างเป็นบางครั้ง การจามย้อนจะพบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์หน้ายาวอย่างบีเกิ้ลหรือแจ็ครัสเซล โดยเราจะสังเกตท่าทางของพวกเค้าได้ เช่น มีการเงยหน้าขึ้นเล็กน้อยพร้อมกับทำเสียงดังครอก ๆ ซืด ๆ เป็นจังหวะ
ตัวอย่างอาการจามย้อน Reverse sneezing
สำหรับอาการจามย้อน เจ้าของที่เพิ่งเคยเจอเป็นครั้งแรก อาจมีความกังวลใจจนต้องรีบพาน้องมาพบสัตวแพทย์ เพราะคิดว่าน้องอาจป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วการจามย้อนไม่ได้มีอันตรายรุนแรงแต่อย่างใด เป็นเพียงวิธีการขับสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจของสัตว์ ซึ่งอาการนี้เราสามารถพบได้ในสัตว์สุขภาพปกติทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามหากน้องหมาน้องแมวแสดงอาการจามย้อนบ่อยครั้งจนเกินไป อาจหมายถึงน้องมีภาวะภูมิแพ้บางอย่าง ซึ่งเจ้าของควรนำสัตว์เลี้ยงมาพบคุณหมอเพื่อสังเกตอาการต่อไป
4. หมาแมวจามและไอ
การไอของน้องหมาน้องแมว บางครั้งเจ้าของจะเข้าใจว่าเป็นการพยายามขย้อนเอาอะไรบางอย่างออกมาจากปาก ยิ่งบางครั้งน้องมีเสมหะออกมาพร้อมด้วย ยิ่งทำให้เจ้าของเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการอาเจียนของสัตว์ ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาของระบบทางเดินอาหารมากกว่าทางเดินหายใจ
แต่จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ คือ การไอที่เกิดจากปัญหาการระคายเคืองบริเวณคอหรือหลอดลมของน้องหมาน้องแมว เจ้าของสามารถแยกการไอออกจากอาเจียน ด้วยการนับความถี่ของอาการ หากเป็นการไอสัตว์จะแสดงออกไม่นานแล้วหายไป แต่หากมีอะไรบางอย่างติดคอ เช่น กระดูกสัตว์ หรือก้างปลา สัตว์จะพยายามขย้อนสิ่งแปลกปลอมออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาจมีการใช้ขาล้วงเข้าไปในช่องปากเพื่อพยายามเขี่ยสิ่งที่ติดอยู่ออกมา
สำหรับสาเหตุของการไอมีได้หลายระดับ แบ่งได้เป็นดังนี้
- ไอเนื่องจากภาวะหลอดลมอักเสบ หรือเป็นโรคภูมิแพ้
- ไอจากการมีโรคหัวใจร่วมด้วย
- ไอจากการระคายเคืองเนื่องจากมีก้อนเนื้อ หรือมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ
อาการไอของสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียวไม่ถือเป็นสัญญาณอันตรายมากนัก ยกเว้นสัตว์มีการไอร่วมกับลักษณะของการหายใจที่แปลกไป เช่น หายใจเร็วหอบ หรือแสดงอาการหายใจไม่ออก อย่างไรก็ตามหากสัตว์เลี้ยงยังคงไอติดต่อกันเป็นเวลานาน เจ้าของควรรีบนำน้องมาพบสัตวแพทย์ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการไอเรื้อรังอาจส่งผลให้บางอวัยวะในทางเดินหายใจเกิดปัญหาร่วมด้วย เช่น สัตว์ไอรุนแรงจนเนื้อเยื่อในหลอดลมอักเสบ หรือฉีกขาด ซึ่งจะทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากมากขึ้น และอาจเรื้อรังจนไม่สามารถรักษาให้หายได้
5. เสียงร้องของหมาแมว เหมือนเสียงห่าน (Goose honk)
อาการนี้มักพบได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนียนและยอร์คเชียร์เทอเรีย สุนัขจะหายใจเสียงดังอ๊อก ๆ ฟังดูคล้ายกับเสียงร้องของห่าน และบางครั้งจะพบมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กระวนกระวาย หายใจลำบาก รวมถึงบางตัวมีการไอช่วงท้าย หลังส่งเสียงร้องแบบห่านออกมา
ตัวอย่างอาการร้องเสียงห่านของหมาแมว (Goose honk)
สำหรับเสียงร้องแบบห่านมีสาเหตุมาจากโรคหลอดลมยุบ (Tracheal collapse) ซึ่งจะเจอปัญหานี้ได้ในสุนัขที่เจ้าของปล่อยให้อ้วน หรือในสุนัขพันธุ์เล็กที่มีใบหน้าสั้น สุนัขจะแสดงอาการนี้ออกมาให้เห็นเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น เช่น ตกใจเสียงคนแปลกหน้า หรือมีความกระวนกระวายมาก ๆ กับเหตุการณ์บางอย่าง การทำเสียงห่านจะใช้เวลาเกิดเพียงไม่นาน และจะหยุดได้เองเมื่อสุนัขเริ่มรู้สึกสงบ อย่างไรก็ตามหากน้องหมามีอาการนี้เกิดขึ้นถี่มากจนเกินไป หรือใช้เวลานานกว่าจะหยุดในแต่ละครั้ง แนะนำให้พาน้องมาพบคุณหมอเพื่อตรวจรักษา เพราะแม้ว่าการร้องเสียงห่านอาจไม่ได้ทำอันตรายใด ๆ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยหรือกินเวลานานในแต่ละครั้ง ก็มีผลทำให้สัตว์เกิดสภาวะขาดอ๊อกซิเจนจนถึงขึ้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
6. อาการหอบหายใจลิ้นซีดหรือมีสีม่วง ใช้ท้องช่วยหายใจ
สุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถระบายความร้อนผ่านทางเหงื่อได้ ไม่เหมือนกับในคน ดังนั้นเวลาร้อนมาก ๆ จะใช้วิธีการอ้าปากหอบหายใจ เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกายซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในบางรูปแบบ เช่น การหอบจนลิ้นเปลี่ยนสี หรือมีการหายใจที่รุนแรงผ่านช่องท้อง ลักษณะเช่นนี้บ่งบอกถึงสัญญาณความผิดปกติของตัวสัตว์ที่เจ้าของต้องสังเกตให้เห็น และรีบพาน้องไปโรงพยาบาล เพราะอาการดังกล่าว คือ ภาวะที่ตัวสัตว์หายใจไม่ออกอย่างรุนแรง ซึ่งถ้ายังปล่อยทิ้งไว้มีโอกาสเสียชีวิตได้
สำหรับ 6 อาการของระบบทางเดินหายใจที่หมอเขียนไว้ในบทความนี้ เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นที่เจ้าของสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง และตัดสินใจในการพาน้องไปโรงพยาบาล การที่หมาแมวแสดงสัญญาณบางอย่างให้เรารับรู้ ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้สื่อสารกับเจ้าของ ว่าน้องกำลังรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว ซึ่งหากเจ้าของยังคงนิ่งนอนใจ อาจทำให้เกิดการลุกลามของโรคบางอย่าง ที่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ทันการณ์ในการแก้ไขก็เป็นได้
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI:
แหล่งอ้างอิง: Reverse Sneezing
นสพ. อนรรฆ เกรียงศิริ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์