หมาแมวตาแฉะ 7 ความผิดปกติของโรคตาในสัตว์

Deemmi-cats-dogs-eye-diseases (หมาแมวตาแฉะ 7 ความผิดปกติของโรคทางดวงตาในสัตว์) (1)

เพื่อน ๆ เคยเจอปัญหานี้กันมั้ยคะ อยู่ ๆ น้องก็มีติ่งเนื้อแปลก ๆ ขึ้นที่มุมขอบตา หรือบางทีก็เจอน้ำตาไหลออกมาตลอดเวลา เรียกว่าหมาแมวตาแฉะกันทั้งวัน ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นความผิดปกติที่ปล่อยทิ้งไว้นานไม่ได้ เนื่องจากดวงตาถือเป็นหน้าต่างของหัวใจ เอ้ย ไม่ใช่ค่ะ หมอหมายถึงตาของสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในอวัยวะของการรับรู้และมองเห็น ดังนั้นเจ้าของจึงควรรู้จักลักษณะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา และคอยสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงปัญหาซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยง

หมาแมวตาแฉะ เกิดได้จากอะไรบ้าง

สำหรับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาสัตว์ จะมีทั้งความผิดปกติโดยกำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น น้องหมาน้องแมวเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา มีภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย ตาเสื่อมสภาพตามอายุขัยที่มากขึ้น หรือการเกิดความผิดปกติของดวงตาซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเป็นโรคในระบบอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่มักพบได้บ่อย จะมีอยู่ด้วยกัน 7 สาเหตุ ดังนี้

1. ภาวะที่หนังตาม้วนเข้า หนังตาม้วนออก หรือขนตาขึ้นผิดแนวปกติ

เป็นกลุ่มความผิดปกติที่พบได้บ่อยในน้องหมาพันธ์ุชาไป่และเชา-เชา  โดยส่วนใหญ่แล้วที่หมอพบบ่อย มักเป็นลักษณะของขนตาม้วนเข้าหาตา

2. ติ่งเชอร์รี่ที่มุมขอบตา (Cherry Eye)

ลักษณะเป็นติ่งเนื้อที่มีสีคล้ายกับผลเชอรี่ พบอยู่บริเวณขอบตาด้านใน เกิดจากความผิดปกติของต่อมน้ำตาบริเวณหนังตาที่ 3 ทำให้เกิดเป็นก้อนนูนแดงออกมาให้เห็น

3. หมาแมวตาแฉะ เนื่องจากมีแผลเป็นที่กระจกตา

การมีแผลเป็นที่กระจกตา บ่อยครั้งเกิดจากอุบัติเหตุบางอย่างที่กระทบกระเทือนตาของสัตว์เลี้ยงโดยไม่รู้ตัว การใช้สารเคมีอย่างแชมพูหรือการสัมผัสกับฝุ่นละอองเป็นเวลานาน ก็เป็นสาเหตุให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ เพราะการระคายเคืองที่ผิวหนังของน้องทำให้เกิดการเกาหรือถูไถไปกับพื้น จนเกิดการกระเทือนที่กระจกตา ลุกลามไปจนกระทั่งกระจกตาเป็นแผลได้

4. น้ำตาแห้ง (Keratoconjunctivitis Sicca หรือ KCS)

ภาวะน้ำตาแห้ง (KCS) เกิดจากการที่ต่อมน้ำตาสร้างน้ำตาออกมาได้น้อยกว่าปกติ พบบ่อยในน้องหมาพันธุ์ที่ลูกตาโปนและมีใบหน้าสั้น เช่น ชิทสุ ปักกิ่ง และปั๊ก ทำให้ไม่มีน้ำตาเพียงพอในการหล่อลื่นตา

5. หมาแมวตาแฉะ เนื่องจากเยื่อบุตาอักเสบ

เจ้าของสามารถสังเกตการเกิดเยื่อบุตาอักเสบของสัตว์เลี้ยงได้จาก ผนังตาด้านในของน้องจะมีสีแดงมากขึ้น หรืออาจมีอาการบวมออกมาให้เห็นได้ สาเหตุหลักมักมาจากการระคายเคืองฝุ่นทั่วไป หรือการแพ้สารเคมีต่าง ๆ รวมถึงเมื่อเกิดการติดเชื้อที่ดวงตาก็พบได้เช่นกัน

6. ต้อหิน

ต้อหินเกิดจากความผิดปกติของการระบายน้ำในช่องลูกตา ทำให้ความดันภายในตาสูงขึ้น กรณีนี้ถือว่าเป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยงต้องรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน หากรักษาไม่ทันเวลาอาจเกิดตาบอดได้

7. ต้อกระจก

ต้อกระจกเกิดจากเลนส์ตามีความผิดปกติหรือมีการเสื่อมสภาพไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบในสัตว์เลี้ยงที่อายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพบได้ในสัตว์อายุน้อยเช่นกัน เนื่องจากต้อกระจกถือความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของสัตว์เลี้ยง

นอกจากหมาแมวตาแฉะแล้ว
อาการอื่น ๆ ที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง

เมื่อดวงตาของสัตว์เลี้ยงพบความผิดปกติบางอย่าง เจ้าของสามารถสังเกตอาการเหล่านี้เพิ่มเติมได้ นอกเหนือจากอาการตาแฉะที่พบได้บ่อย

  • น้ำตาไหลมากกว่าปกติ  
  • ขี้ตาเยอะ 
  • หรี่ตา หรือกระพริบตาบ่อย ๆ 
  • สีภายในดวงตาผิดปกติไป เช่น พบมีสีแดง ซึ่งอาจหมายถึงภาวะการเกิดเลือดออกในดวงตา หรือบางกรณีพบเป็นสีขาวขุ่น เมื่อมีภาวะการอักเสบที่ตาและเกิดหนองร่วมด้วย 
  • อาการคันรอบ ๆ ดวงตา เจ้าของจะสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงจะพยายามเอาขาเกาตา หรือบางครั้งอาจเอาตาลงไปถูกับพื้นหรือผนัง (พบได้บ่อยในสุนัข) ซึ่งถือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นร่วมกับภาวะตาอักเสบ และเมื่อปล่อยทิ้งไว้ จะพบว่าความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น  
  • ลักษณะการมองผิดแปลกไป เช่น การกะระยะในการหลบสิ่งของผิดไปจากเดิม เดินชนเฟอร์นิเจอร์ในบ้านบ่อยขึ้น หรือพบว่าน้อง ๆ มีการเดินหรือเคลื่อนไหวที่ช้าลง  
  • พฤติกรรมอื่น ๆ เช่น นั่งนิ่ง ๆ หรือไม่ร่าเริงเหมือนเคย เจ้าของอาจนำมาใช้เป็นการสังเกตร่วมกับความผิดปกติที่หมอพูดถึงไปก่อนหน้าก็ได้ค่ะ

ความผิดปกติของดวงตาเป็นโรคเฉพาะทาง จำเป็นต้องได้รับการตรวจที่จำเพาะต่ออาการนั้น ๆ  และการได้รับประวัติข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิการของโรค จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อให้เจ้าของได้รับความสบายใจ รวมถึงคุณหมอสามารถเข้าถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรค การให้ข้อมูล เช่น ประวัติสายพันธุ์สัตว์ และเหตุการณ์ก่อนการเกิดวิการของโรค จึงมีผลอย่างมากในการช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากเจ้าของยังมีความกังวลใจ หรือมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามมาทางเว็บไซต์ได้ เรามีบริการปรึกษาสัตวแพทย์ออนไลน์ หรือแอดไลน์ @deemmi เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้

แหล่งอ้างอิง: Discharge From a Dog’s Eyes

Share
สพ.ญ.สุดา สุระสินธุ์อนันต์

สพ.ญ.สุดา สุระสินธุ์อนันต์

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Deemmi telemed where you can click to consult vets
Line
Email