เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมน้องหมาหรือน้องแมวแต่ละตัวที่เราเลี้ยงมาถึงมีนิสัยแตกต่างกันมาก ๆ บางตัวดุพร้อมไฝว้ แต่บางตัวก็สุดจะขี้อ้อนเข้าหาคนเก่งมาก ๆ วันนี้คุณหมอตี๋สัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมจะมาบอกเคล็ดลับนี้กัน
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง
โดยทั่วไปแล้ว พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงจะมาจาก 3 องค์ประกอบหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้
- พันธุกรรม (Genetics) – พฤติกรรมบางอย่างถูกกําหนดมาจากพันธุกรรมของสัตว์แต่ละสายพันธุ์ เช่น สุนัขพันธุ์ล่าสัตว์ อย่างบางแก้ว ไทยหลังอาน และพิทบูล จะมีสัญชาตญาณในการล่าเหยื่อสูง
- การเรียนรู้ (Learning) – ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่สัตว์ได้รับมาจะส่งผลต่อพฤติกรรมและนิสัย เช่น น้องหมาที่โดนทําร้ายอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าน้องหมาที่ดูแลด้วยความรัก
- สิ่งแวดล้อม (Environment) – สภาพแวดล้อมและประสบการณ์ในชีวิตประจําวันมีอิทธิพลต่อนิสัยและพฤติกรรม เช่น สุนัขที่ออกกําลังอย่างสม่ำเสมอจะมีความเครียดน้อยกว่าสุนัขที่ถูกเลี้ยงดูอยู่ในบ้าน
ดังนั้น การเข้าใจพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง จึงควรพิจารณาทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมและสาเหตุของพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
รู้ได้อย่างไรพฤติกรรมไหนไม่ปกติในสัตว์เลี้ยง
ก่อนที่หมอจะเล่าถึงรูปแบบความผิดปกติของพฤติกรรมน้องหมาน้องแมว อยากให้เจ้าของได้รู้จักพฤติกรรมปกติของน้องก่อนว่า แต่ละสายพันธุ์มีการแสดงออกทางนิสัยอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้แยกพฤติกรรมที่ผิดปกติของน้องหมาน้องแมวได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
1. พันธุกรรมปกติของสัตว์เลี้ยง (Genetics)
นิสัยปกติของหมา
แม้ว่าจะมีการเลี้ยงดูที่เหมือนกันโดยเจ้าของคนเดียวกัน แต่นิสัยโดยพื้นฐานแล้วก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ เช่น
- สุนัขพันธุ์รีทรีฟเวอร์ (Retriever) เช่น พันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ หรือลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ จะมีนิสัยรักสนุก ร่าเริง และชอบวิ่งเล่น รวมถึงน้อง ๆ จะชอบเล่นน้ําและว่ายน้ําเป็นพิเศษอีกด้วย
- สุนัขพันธุ์ขนาดเล็ก (Toy Breed) เช่น พันธุ์พุดเดิ้ล หรือชิวาวา มักจะติดเจ้าของเอามาก ๆ รวมถึงมีความขี้อ้อนสูง และชอบกิจกรรมที่มีเจ้าของร่วมเล่นด้วย
- สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ เจ้าตูบตัวขาว ขนยาวน่ากอด มักมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีความเป็นมิตรและรักเด็ก
- สุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด โดเบอร์แมน และร็อตไวเลอร์ จะมีนิสัยที่เงียบ และอาจมีความก้าวร้าวในบางสถานการณ์
- สุนัขพันธุ์พิทบูลล์ มักแสดงความก้าวร้าวต่อสุนัขตัวอื่น ๆ แต่ไม่ค่อยก้าวร้าวกับเจ้าของที่ให้ความรัก
ดังนั้นพฤติกรรมปกติของสุนัขแต่ละสายพันธุ์ จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งเจ้าของควรศึกษาให้เข้าใจพฤติกรรมปกติของสุนัขแต่ละพันธุ์ เพื่อสามารถแยกแยะพฤติกรรมผิดปกติได้
นิสัยปกติของแมว
สําหรับพฤติกรรมและนิสัยของเจ้าเหมียวนั้น จะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเท่ากับน้องหมา หากลองเปรียบเทียบกันระหว่างแมวไทยกับแมวเปอร์เซีย เราจะพบว่า ทั้ง 2 สายพันธุ์จะมีลักษณะนิสัยที่ทั้งเหมือนและต่างกัน เช่น ชอบความเป็นส่วนตัวหรือรักสันโดษเหมือนกัน แต่แมวไทยจะมีความขี้อ้อนหรือขี้เล่นมากกว่าแมวเปอร์เซีย รวมทั้งมีสัญชาตญาณการล่าเหยื่อที่สูงกว่า จึงมักมีกิจกรรมและความกระตือรือล้นต่อสิ่งรอบตัวมากกว่าแมวเปอร์เซีย
2. การเรียนรู้จากประสบการณ์ของสัตว์เลี้ยง (Learning)
การเรียนรู้ของน้องหมา
สุนัขก็เหมือนเด็กเล็ก การเรียนรู้ของพวกเค้าจะเกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับมา เช่น
- หากน้อง ๆ ถูกทําโทษหรือทําร้ายด้วยการใช้ไม้ตีเป็นประจํา เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากการโดนทําร้าย น้องหมาอาจจะแสดงอาการดุร้ายมากขึ้น หรืออาจจะหวาดกลัววิ่งไปซ่อน ในทุกครั้งที่เห็นใครถือไม้เดินเข้ามาหา
- น้องหมาอาศัยอยู่ข้างถนน มีรถยนต์ขับผ่านไปมา หรืออยู่ในที่ที่มีการจราจรพลุกพล่าน มักมีความสามารถในการมอง และหลบหลีกรถบนท้องถนนได้ดีกว่าน้องหมาที่อาศัยอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านนี้น้อยกว่า จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุโดนรถชนได้มากกว่า
- บางครั้งจะพบน้องหมาเพศผู้บางตัวนั่งปัสสาวะเหมือนกับเพศเมีย ซึ่งเกิดจากบ้านที่เลี้ยงดูไม่มีสุนัขเพศผู้อยู่เลย มีแต่เพศเมีย หรือไม่เคยเห็นเพศผู้ตัวอื่น ๆ ยกขาปัสสาวะ จึงไม่เกิดการเรียนรู้
ดังนั้นหากเราอยากให้น้องหมามีนิสัยและพฤติกรรมอย่างไร ก็สามารถทำได้ ด้วยการสอนน้องให้เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง หรืออาจพาน้องไปยังโรงเรียนฝึกสอน เช่น ศูนย์ฝึกสุนัขครูโหน่ง K9 หาดใหญ่
การเรียนรู้ของน้องแมว
แมวมีความสามารถในการเรียนรู้สูงโดยเฉพาะในช่วงที่ยังเป็นลูกแมว พฤติกรรมการเล่นหรือการล่าเหยื่อที่แมวได้รับประสบการณ์ในช่วงนี้จะถูกจดจําและกลายเป็นนิสัยเมื่อโตขึ้น ตัวอย่างพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ของแมว
- แมวที่ชอบไล่กัดขาและมือเจ้าของ มักเกิดจากเจ้าของชอบเล่นกับแมวด้วยการใช้เท้าและมือตั้งแต่น้องยังเล็ก ทำให้น้องเข้าใจว่าการไล่กัดเป็นการแสดงความรัก
- แมวที่ชอบวิ่งงับหางของตัวเอง เป็นเพราะเคยเล่นแบบนั้นบ่อย ๆ ในวัยเด็กกับเพื่อน ๆ
- แมวที่ชอบขโมยอาหารจากจานข้าว เป็นเพราะเคยได้รับรางวัลโดยการให้อาหารจากจานเมื่อทำถูกใจเจ้าของ
ดังนั้นหากเราต้องการฝึกนิสัยของน้องแมว ต้องเริ่มทำตั้งแต่ในช่วงยังเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาพฤติกรรมเมื่อโตขึ้น
3. อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง (Environment)
สภาพแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อการแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันไปของน้องหมาน้องแมว เช่น
- สุนัขที่มีการออกกําลังและเล่นกับเจ้าของอย่างสม่ำเสมอ จะมีความเครียดน้อยกว่าสุนัขที่เลี้ยงแบบขังกรงหรือถูกจํากัดบริเวณ
- สุนัขที่ถูกจํากัดบริเวณอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความเครียด
- สุนัขที่อยู่ในบ้านมีรั้วรอบขอบชิดอาจมีนิสัยหวงพื้นที่มากขึ้น
วิธีแยกแยะความผิดปกติทางพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง
ความไม่ปกติทางพฤติกรรมของน้องหมาน้องแมวมีได้หลายแบบด้วยกัน แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ปัญหาทางพฤติกรรม (Behavior problem) และ พฤติกรรมที่เป็นปัญหา (Problem behavior) ซึ่งแตกต่างกันในนิยามความหมาย
ปัญหาทางพฤติกรรม (Behavior problem)
เป็นกลุ่มพฤติกรรมที่สุนัขหรือแมวแสดงออกมา และแตกต่างจากพฤติกรรมปกติของพวกพ้อง ถือเป็นปัญหาพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงโดยตรง เช่น การไล่กัดขาเจ้าของในน้องแมวบางตัว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พบในแมวฝูงเดียวกัน
พฤติกรรมที่เป็นปัญหา (Problem behavior)
เป็นกลุ่มพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นสิ่งที่เจ้าของสัตว์ไม่ชอบหรือต้องการ หรือเรียกอีกอย่างว่า น้องหมาน้องแมวทํานิสัยที่เจ้าของไม่พอใจนั่นเอง
ตัวอย่างปัญหาพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง
- ปัญหาความก้าวร้าวหรือดุร้าย ซึ่งมีหลายรูปแบบ และมักพบการแสดงออกจากสาเหตุที่แตกต่างกัน
- ปัญหาการกลัวเสียงดัง เช่น เสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พลุ ประทัด
- ปัญหาการกินสิ่งแปลกปลอม เช่น เข็ม ลูกบอล ของเล่น หรือกินอุจจาระและสิ่งสกปรก
- ปัญหาการหลงลืมในสุนัขแก่ชรา
- ปัญหาการกัดทําลายสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า
- ปัญหาการเห่าหอน ส่งเสียงดังตลอดเวลา
- ปัญหาการทําเครื่องหมาย หรือ Spraying ปัสสาวะไม่เป็นที่เป็นทาง
- ปัญหาการกัดแทะขาตัวเอง หรือเลียขนตัวเองมากเกินไป
สาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อปัญหาพฤติกรรม
นอกจาก 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ พันธุกรรม การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงตามที่ได้กล่าวมาแล้ว อายุของสัตว์เลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสําคัญที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมได้เช่นกัน
- ในช่วงวัยรุ่น (6-18 เดือน) สุนัขและแมวจะมีพฤติกรรมชอบเล่นสนุกสนาน มีพละกําลังมาก และอาจแสดงความก้าวร้าวในระดับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
- ในช่วงสูงอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป สัตว์เลี้ยงอาจเริ่มมีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคข้ออักเสบ ทําให้ไวต่อการสัมผัสและแสดงปฏิกิริยาก้าวร้าว
นอกจากนี้น้องหมาน้องแมวที่เคยถูกทำร้ายร่างกายมาก่อน อาจแสดงปฏิกิริยาตื่นตระหนกหรือก้าวร้าวได้ง่ายมากขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าเดิม เช่น ก้อนหิน หรือไม้เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่เราจะสรุปว่าสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมผิดปกติ จำเป็นต้องพิจารณาในส่วนของอายุ และประวัติหรือประสบการณ์ที่น้องเคยได้รับมาอีกด้วย
คําแนะนําเมื่อพบปัญหาพฤติกรรมในสัตว์เลี้ยง
หากพบว่าสัตว์เลี้ยงมีความผิดปกติทางพฤติกรรมเกิดขึ้นจริงตามที่หมอได้เล่ามา แนะนําให้พาน้องไปพบสัตวแพทย์เพื่อปรึกษาและวินิจฉัยโดยละเอียด
การพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ จะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยอาการและหาสาเหตุของปัญหาอย่างถูกต้อง รวมถึงได้รับคําแนะนําการรักษาและฝึกฝนพฤติกรรมที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามรุนแรงขึ้น ดังนั้นการพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเมื่อพบปัญหาพฤติกรรมผิดปกติ
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: ควรทำหมันแมวและหมามั้ย มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
แหล่งอ้างอิง: Common behavioral problemsOther Joint Disorders in Dogs
น.สพ.มนต์ชัย เล็กเจริญวงศ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์