เดี่ยวหนาวเดี่ยวร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปลายปีที่อากาศมักจะเย็นลงอย่างฉับพลัน สัตว์เลี้ยงของเราก็มีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายขึ้น เนื่องจากปรับตัวไม่ทันกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เจ้าของสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ไว วันนี้หมอจึงอยากชวนคุยเกี่ยวกับโรคสำคัญของน้องแมวที่มักมากับลมหนาว และแนวทางการดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงอากาศเย็น
หน้าหนาวเกี่ยวอะไรกับ...หัดแมวและหวัดแมว
ก่อนอื่นเพื่อน ๆ รู้มั้ยคะ ทำไมฤดูหนาว…แมวถึงป่วยง่ายขึ้น ???
อย่างแรกเลยต้องบอกว่า เพราะอากาศเย็นส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย อุณหภูมิที่ต่ำลงจะช่วยให้เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ง่ายขึ้น และช่วยให้เชื้อคงทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น นอกจากนี้สุขภาพของน้องแมวในช่วงอากาศเย็นจัดก็สำคัญ เพราะหากไม่ได้รับการดูแลในเรื่องความอบอุ่นที่เพียงพอ เช่น ไม่ได้สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่น ไม่ได้ให้อาหารที่มีสารอาหารเพียงพอ หรือไม่ได้ทำวัคซีนป้องกันโรคให้น้องแมวไว้ก่อน ก็มีโอกาสที่น้องแมวจะป่วยและล้มตายได้เมื่อได้รับเชื้อโรค เนื่องจากร่างกายอ่อนแอจากสภาพอากาศ
ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว นอกจากการจัดการด้านความอบอุ่นที่หมอพูดถึง เจ้าของควรเฝ้าระวังโรคฮิตติดเชื้อในแมว ซึ่งจะมีโอกาสทำให้น้องป่วยได้ง่าย หลัก ๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มอาการหวัดแมว (Cat Flu , Feline Infectious Respiratory Disease)
- โรคหัดแมว (Feline Parvovirus Enteritis , Feline Panleukopenia)
1. กลุ่มอาการโรคหวัดแมว (Cat Flu , Feline Infectious Respiratory Disease)
“หวัดแมว” ถือเป็นกลุ่มโรคที่มาเป็นอันดับหนึ่งในช่วงอากาศหนาวเย็น สำหรับเชื้อที่ทำให้แมวแสดงอาการเป็นหวัดมีทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย หรือในบางกรณีเป็นการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน เชื้อโรคในกลุ่มนี้มีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วไปตามอากาศ แมวที่ป่วยด้วยโรคหวัดจะมีอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแมวและชนิดของเชื้อที่ก่อโรค ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1.1 โรคหวัดแมว Feline Herpesvirus (FHV-1)
ตัวอย่างภาพ: ภาพแสดงแมวที่เป็นหวัดแมว มีอาการเยื่อตาแดงอักเสบ และมีน้ำตาไหล
แหล่งอ้างอิง: CAT FLU – UPPER RESPIRATORY INFECTION
เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคหวัดแมว โดยแมวจะแสดงอาการ
- ระยะแรกของการป่วย แมวจะมีไข้ จาม ซึ่งจะเพิ่มความถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 2-5 แมวจะเริ่มมีน้ำมูก และพบน้ำตาใส ๆ อยู่รอบดวงตาทั้ง 2 ข้าง น้ำมูกที่ใสจะกลายเป็นขี้มูกข้นอุดตันช่องจมูก ทำให้หายใจลำบาก
- ระยะการป่วยต่อมา จะพบอาการตาอักเสบ ซึ่งจะรุนแรงขึ้นจนมองเห็นเยื่อตาบวมแดงชัดเจน และในแมวบางตัวอาจเกิดเนื้อตายของกระจกตา (เนื้อเยื่อสีดำบนตา) เสียงร้องเปลี่ยนไปหรือไม่มีเสียง แมวป่วยมักมีน้ำลายไหลยืดตลอดเวลา
ในตลาดตอนนี้ชามข้าวน้องหมาจะมีทั้งแบบพลาสติกและสแตนเลส Deemmi ขอแนะนำว่าให้ใช้เป็นชามสแตนเลส เพราะมีความทนทานและทำความสะอาดง่ายมาก ก่อนเลือกซื้อควรนึกถึงขนาดด้วยนะ ว่าสามารถใส่อาหารได้เพียงพอหรือไม่ และความลึกของชามเหมาะสมกับโครงหน้าของน้องหมาหรือไม่ เพราะเวลาน้องหมากินข้าวจะได้ไม่ลำบาก ที่สำคัญควรมีทั้งหมด 2 ใบ สำหรับใส่ข้าวและน้ำแยกกัน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของน้องหมาและการทำความสะอาดที่ง่ายกับคนเลี้ยง
สำหรับแมวที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ เมื่อหายป่วยแล้วจะกลายเป็นตัวอมโรคไปตลอดชีวิต (เชื้อจะไปหลบอยู่ในปมประสาท) ดังนั้นเวลาที่แมวเกิดความเครียดหรือภูมิคุ้มกันตก จะพบว่าแมวกลับมาแสดงอาการของหวัดแมวได้อีกเป็นระยะ ๆ ไปตลอดชีวิต
1.2 โรคหวัดแมว Feline Calicivirus ( FCV )
ตัวอย่างภาพ: ภาพแสดงแผลหลุมที่ลิ้นของแมวที่ติดเชื้อ Feline Calicivirus (FCV)
แหล่งอ้างอิง: Feline calicivirus infection
เชื้อไวรัส Feline Calicivirus (FCV) มีลักษณะเด่นของอาการ คือ ทำให้แมวมีแผลเป็นหลุมที่ลิ้น ช่องปาก และจมูก ซึ่งแตกต่างจากการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ในกลุ่มอาการหวัดแมว (สามารถแยกความแตกต่างได้) อย่างไรก็ตามในแมวที่รับเชื้อ FCV ยังคงแสดงอาการหวัดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น จาม มีไข้ น้ำตาไหล และมีน้ำมูกไหลบ้าง น้องแมวบางตัวอาจเดินขากะเผลกร่วมด้วย แต่มักไม่มีอาการตาอักเสบเด่นชัด สำหรับเชื้อตัวนี้มีหลายสายพันธุ์มาก บางสายพันธุ์อาจก่ออาการที่รุนแรง ทำให้แมวมีการอักเสบของอวัยวะภายในจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
1.3 โรคหวัดแมว Chlamydophilla felis
เชื้อตัวนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีอาการเยื่อบุตาแดงอักเสบเป็นหลัก โดยในระยะแรกมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง ต่อมาจะเป็นทั้ง 2 ข้าง (แต่บางตัวก็อาจเป็นแค่ข้างเดียวไปจนหายเลยก็ได้) อาการที่พบคือ แมวจะหรี่ตาและมีภาวะเยื่อตาบวมแดง แมวที่ป่วยจะมีน้ำตาไหลออกมาเรื่อย ๆ ร่วมกับอาการในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมักไม่รุนแรงเท่ากับการติดเชื้อไวรัส อาการอื่น ๆ ได้แก่ จาม หรือมีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมาบ้าง อย่างไรก็ตามหากแมวมีการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydophilla felis ร่วมกับเชื้อไวรัสตัวอื่น อาจแสดงอาการรุนแรงขึ้นได้
1.4 โรคหวัดแมว Bordetella bronchiseptica
เชื้อตัวนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถติดต่อสู่คนได้ แมวที่เป็นหวัดเนื่องจากได้รับเชื้อชนิดนี้ จะมีอาการค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่จาม มีน้ำมูกน้ำตา ไอเล็กน้อย ไปจนถึงไอรุนแรงและเสียชีวิตได้ในบางตัว
2. โรคหัดแมว (Feline Parvovirus Enteritis , Feline Panleukopenia)
นอกจากกลุ่มอาการหวัดแมวที่พูดถึงก่อนหน้านี้ โรคหัดแมวเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในฤดูหนาว โรคหัดแมวจะไม่มีอาการทางเดินหายใจใด ๆ หลายคนอาจสับสนกับโรคหัดในสุนัข (Canine Distemper Virus) ที่มีอาการคล้ายหวัดคือ มีน้ำมูกน้ำตาไหล แต่สำหรับโรคหัดแมวนั้นเป็นคนละเรื่องและคนละเชื้อโรคกัน
โรคหัดแมวเกิดจากอะไร
โรคหัดแมวเป็นเชื้อกลุ่มเดียวกันกับโรคลำไส้อักเสบในสุนัข ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัสและทำให้สัตว์เกิดความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหาร หัดแมวถือเป็นโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังเพราะมีการระบาดเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งปี แต่มักพบว่าโรคนี้จะระบาดรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว สาเหตุเนื่องมาจากอากาศที่แห้งและเย็นทำให้เชื้อคงทนในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น (เชื้อไวรัสชนิดนี้ตามปกติมีความคงทนในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิห้องได้นานถึง 1 ปี) จึงทำให้ช่วงปลายปีจนถึงต้นปีเป็นช่วงที่เราจะได้ยินข่าวแมวเสียชีวิตเป็นจำนวนมากอยู่เสมอ
โรคหัดแมวมีอาการอย่างไร
สำหรับอาการของโรคหัดแมว (FPV) ได้แก่
- ซึม เบื่ออาหาร น้ำลายไหลยืด (เจ้าของหลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าแมวโดนวางยา)
- มีภาวะขาดน้ำ
- อาเจียนรุนแรง
- ถ่ายเหลวตั้งแต่ธรรมดาจนถึงถ่ายปนมูกเลือด
- มีภาวะของเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง
*** น้องแมวหลายตัวที่ไม่เคยได้รับวัคซีนอาจเสียชีวิตได้
4 วิธีป้องกันโรคหัดแมวและหวัดแมว
1. ดูแลทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่น้องแมวอยู่
เน้นการดูแลชามน้ำ ชามอาหาร กระบะทราย ที่นอน คอนโดแมว รวมถึงอุปกรณ์ของเล่นทุกชิ้นที่น้องแมวชอบ ให้มีความสะอาดอยู่เสมอ การจัดโปรแกรมทำความสะอาดยังช่วยลดปัญหาเชื้อราอีกด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีความอับชื้นพบว่าสปอร์ของเชื้อรามักจะแอบซ่อนอยู่ตามสิ่งของเหล่านี้ และทำให้น้องแมวยังคงวนเวียนกับปัญหาโรคผิวหนังอย่างต่อเนื่อง
แนะนำบทความที่น่าสนใจ :
2. เพิ่มการดูแลปกป้องร่างกายน้องแมวจากความหนาวเย็น
การใส่เสื้อให้แมวและการหาผ้าปูรองนอนให้เพิ่มเติม จะช่วยทำให้ร่างกายของน้องมีความอบอุ่นขึ้นในช่วงที่สภาพอากาศเริ่มเย็นลง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้องแมวออกนอกบ้านในช่วงกลางคืน เพราะเป็นช่วงที่อากาศเย็นจัด ซึ่งอาจทำให้ร่างกายของสัตว์ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศได้และเจ็บป่วยในที่สุด
3. เตรียมพร้อมในการสร้างภูมิคุ้มกันให้น้องแมว
การป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนให้กับแมว ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของไม่ควรละเลย เนื่องจากมีโรคบางโรคที่มีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้แมวเสียชีวิตได้ การพาน้องแมวไปฉีดวัคซีนจะเริ่มตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ซึ่งในวัคซีนรวมนั้นจะมีทั้งวัคซีนไข้หัดและหวัดแมวรวมอยู่ด้วย ทำให้แมวสามารถที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคทั้งกลุ่มหวัดและหัดแมวได้
4. จัดการอาหารให้น้องแมวอย่างเหมาะสมทุกช่วงเวลาให้ตรงกับวัย
อากาศเย็นส่งผลต่อความต้องการพลังงานที่มากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการจัดการโภชนาการให้เหมาะสมกับแมวแต่ละตัวและตามแต่ละช่วงวัยของแมว นอกจากนี้ความต้องการพลังงานยังขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแมว น้องแมวที่ผอมจะมีไขมันสะสมน้อย เวลาอากาศหนาวจะหนาวกว่าแมวปกติ ส่วนน้องแมวที่อ้วน หน้าหนาวจะสามารถทนทานต่อสภาพอากาศได้ดีกว่า ดังนั้นในการจัดการปรับปริมาณอาหารช่วงหน้าหนาว เจ้าของจำเป็นต้องพิจารณารูปร่างและสุขภาพของแมวร่วมด้วย
ดังนั้นช่วงไหนที่อากาศเริ่มจะเย็นหรือเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เจ้าของจำเป็นต้องดูแลในเรื่องความอบอุ่นให้กับน้องแมวมากขึ้น รวมถึงคอยเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับตัวสัตว์ สิ่งสำคัญคือ ควรมีการจัดโปรแกรมวัคซีนให้กับน้องอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับน้องได้ สำหรับใครที่ทำตามวิธีป้องกันความหนาวเย็นดังกล่าวแล้ว พบว่าน้องแมวยังแสดงอาการผิดปกติบางอย่างให้เห็น เช่น มีน้ำมูกไหล หรือมีพฤติกรรมผิดปกติไป ควรรีบพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งหากพาน้องไปไวจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาหาย และน้องแมวจะได้ฟื้นตัวง่ายขึ้นค่ะ
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์