เห็บหมัด และเหาไร เจ้าปาราสิตตัวร้ายที่นอกจากจะทำให้สัตว์เลี้ยงของเรามีอาการเกาไม่หยุดแล้ว เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันไหมคะว่า…เจ้าสัตว์ประหลาดเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไร และมันก่อเรื่องอะไรให้กับสัตว์เลี้ยงของเราบ้าง
มารู้จักกับความแตกต่างของเห็บหมัด เหาไร กัน
1. เห็บ
จะพบได้ในสุนัข เป็นปาราสิตที่ก่อให้เกิดการแพ้น้ำลายบริเวณที่ถูกกัดได้เช่นเดียวกันกับหมัด นอกจากนี้เห็บยังเป็นหนึ่งในพาหะของการนำพยาธิเม็ดเลือดมายังสุนัขอีกด้วย
2. หมัด
พบได้ทั้งในสุนัขและแมว ปาราสิตตัวนี้ทำให้สัตว์เลี้ยงมีผิวหนังอักเสบ โดยจะมีลักษณะบวมแดงและมีอาการคันมากบริเวณที่อักเสบ ซึ่งคุณหมอมักจะแจ้งกับเจ้าของว่า “ตอนนี้น้องมีปัญหาแพ้น้ำลายหมัดนะคะ” นอกจากอาการคันที่พูดถึงนี้ หมัดยังเป็นพาหะของพยาธิตัวตืดในทางเดินอาหารของสุนัข และเป็นพาหะของพยาธิเม็ดเลือดในแมวอีกด้วย สาเหตุของการติดพยาธิเกิดจากการที่สัตว์เลี้ยงใช้ปากเลียผิวหนังที่อักเสบ หมัดซึ่งอาจจะอยู่บริเวณนั้นและมีพยาธิดังกล่าวในตัวหมัด ก็จะถูกสัตว์เลี้ยงเผลอกัดกินเข้าไป ทำให้ก่อโรคอื่น ๆ ตามมาได้อีก
3. เหา
พบได้ทั้งในสุนัขและแมว ทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนังและทำให้ผิวหนังอักเสบตามมา
4. ไรในหู
พบได้ทั้งในสุนัขและแมว ทำให้เกิดการอักเสบที่ช่องหูส่วนนอกและเกิดการสร้างขี้หูที่มากขึ้น โดยจะพบว่าสัตว์เลี้ยงที่มีไรในหูจะคันและเกาในช่องหูมาก ๆ
5. ไรขี้เรื้อน
ทำให้เกิดอาการคันและอักเสบที่ผิวหนัง ในสุนัขจะพบไรขี้เรื้อนอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ ไรขี้เรื้อนเปียก หรือไรดีโมเด็กซ์ (demodex) และไรขี้เรื้อนแห้ง หรือไรซาร์คอพติค (sarcoptes)
ไรขี้เรื้อนเปียก มักอาศัยอยู่ในรูขุมขนบริเวณใบหน้า ลำตัว ขา ฝ่าเท้า ส่วนไรขี้เรื้อนแห้งจะชอบอยู่ตามขอบของใบหู ใต้ท้อง ข้อศอกและข้อเท้า การวินิจฉัยว่าเป็นโรคไรชนิดใดนั้น นอกจากคุณหมอจะใช้ตำแหน่งและลักษณะของผิวหนังที่อักเสบเป็นตัวบ่งชี้แล้ว การขูดตรวจผิวหนังเพื่อดูชนิดของไรผ่านกล้องจุลทรรศน์ ยังเป็นหนึ่งในวิธีการตรวจเช็คได้อีกด้วย
การป้องกันเห็บหมัด เหาไร มียากี่ประเภท อะไรบ้าง
1. ยาที่ใช้หยอดป้องกันเห็บหมัดบริเวณกลางหลัง หรือ Spot on
ตัวยาจะบรรจุอยู่ในหลอดขนาดเล็ก การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จะต้องเลือกตามน้ำหนักตัวสัตว์และชนิดของสัตว์เลี้ยงเท่านั้น เมื่อหยอดยาลงไปบนตัวสัตว์ ยาจะค่อย ๆ ซึมผ่านจากส่วนของผิวหนังลงไปยังชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งตัวยาจะถูกสะสมอยู่ที่ต่อมไขมันบริเวณนี้ แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกมาอีกครั้งเพื่อเคลือบอยู่บนเส้นขน ทำให้ปาราสิตภายนอก (เห็บ หมัด เหา และไร) ที่สัมผัสกับเส้นขนได้รับยาและตายในเวลาต่อมา
สำหรับผลิตภัณฑ์หยอดกลางหลังในท้องตลาด จะมีอยู่ด้วยกันหลายยี่ห้อ แต่ละชนิดจะออกฤทธิ์ในการทำงานที่แตกต่างกัน บางยี่ห้อกำจัดได้ทั้งเห็บ หมัด เหา ไรขี้เรื้อนเปียก ไรขี้เรื้อนแห้ง หรือ ไรในหู บางยี่ห้อสามารถถ่ายพยาธิตัวกลมบางอย่างในทางเดินอาหารได้ หากเป็นชนิดที่มีผลต่อการกำจัดพยาธิในร่างกาย การออกฤทธิ์ของยาจะเกิดจากการดูดซึมของตัวยาเข้าสู่กระเเสเลือด แล้วไปมีผลทำให้พยาธิตัวกลมบางชนิดในทางเดินอาหารเกิดการอัมพาตขึ้น และถูกขับออกมากับอุจจาระของสัตว์เลี้ยงในที่สุด นอกจากนี้ยังมียาหยอดหลังบางชนิด ที่สามารถป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้อีกด้วย และบางยี่ห้อก็มีคุณสมบัติควบคุมการเพิ่มจำนวนของหมัด ด้วยการทำให้ไข่หมัดฝ่อไม่ฟักเป็นตัว
*** การใช้ยาให้ดูตามคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งบางยี่ห้อจะแนะนำใช้ทุก ๆ 1 เดือน หรือบางชนิดแนะนำให้ใช้ทุก ๆ 3 เดือน
2. ยาที่ใช้กินป้องกันเห็บหมัด หรือปาราสิตภายนอก
ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะมีทั้งแบบกินทุก ๆ 1 เดือน และทุก ๆ 3 เดือน แล้วแต่ยี่ห้อในท้องตลาดระบุไว้ โดยการกินจะเหมือนกับการเลือกยาหยอดหลัง คือ เจ้าของต้องเลือกให้ยาตามน้ำหนักตัวสัตว์เพราะตัวยาแต่ละเม็ดจะมีปริมาณของยาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวที่แต่ละผลิตภัณฑ์แนะนำไว้ เมื่อสัตว์กินยาเข้าไป ตัวยาจะถูกดูดซึมผ่านทางเดินอาหารและกลับมาสะสมที่ผิวหนังเหมือนกับการใช้ยาหยอดหลัง ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ปาราสิตภายนอกตายในที่สุด
สำหรับตัวยากลุ่มนี้ หลังจากกินเข้าไปแล้วจะสามารถคงอยู่ในร่างกายสัตว์ประมาณ 12 อาทิตย์ หรือ 3 เดือน หลังจากนั้นยาจะค่อย ๆ หายไปจากตัวสัตว์ และทำให้เหล่าปาราสิตภายนอกกลับมาอีกครั้ง ดังนั้นเจ้าของจึงควรทำการบันทึกวันที่ป้อนยาให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อจะได้ทำการป้อนซ้ำอีกครั้งตามคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้
ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
3. ยาสเปรย์พ่นกำจัดเห็บหมัด และน้ำยาจุ่ม
กลุ่มนี้ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมแล้ว เนื่องจากไม่สะดวกในการใช้งาน เพราะต้องพ่นยาให้ทั่วบริเวณผิวหนังของตัวสัตว์ซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก หรือบางยี่ห้อยังต้องมีการใช้น้ำยาละลายน้ำก่อน แล้วจึงจุ่มสัตว์ลงไป
สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Pet, Pest Spray และ Bayticol
คำถามที่พบบ่อยเมื่อเจ้าของมีสัตว์เลี้ยงหลายตัว
มีเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายคนมาปรึกษาหมอว่า “จะขอซื้อยาหยอดหลังของสุนัขไซค์ใหญ่มาแบ่งให้กับสุนัขเล็กหลาย ๆ ตัวได้ไหม” ซึ่งในกรณีนี้หมอไม่แนะนำให้ทำการแบ่งยา หรือนำผลิตภัณฑ์ข้ามชนิดของสัตว์มาใช้ด้วยกัน เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์ในสุนัขเล็กมาใช้กับแมว เป็นต้น
ส่วนในกรณีของยากินนั้นก็เช่นกัน หมอแนะนำให้ใช้ยากินตามขนาดของน้ำหนักตัวสุนัข ไม่แนะนำให้เจ้าของทำการแบ่งยาที่ใช้สำหรับสัตว์น้ำหนักตัวมาก มาให้กับสัตว์ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า เนื่องจากปริมาณยาที่ได้รับอาจคลาดเคลื่อนไปจากปริมาณยาตามน้ำหนักของสัตว์ได้ และอาจเป็นอันตรายกับตัวสัตว์หากได้รับยาเกินขนาด
สุดท้ายที่อยากเตือนเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน คือ ในปัจจุบันนี้มียาออกมาขายตามท้องตลาดหลายยี่ห้อมาก ๆ บางยี่ห้อเป็นยาเถื่อนที่ไม่ได้มาตราฐาน อย. หากเจ้าของไม่แน่ใจในผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมา ให้ปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงของเราค่ะ
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: 7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับเรื่องสุนัขปอดอักเสบ
แหล่งอ้างอิง: Parasite Control
สพ.ญ. กรกช ศิริวิบูลย์ไชยกุล
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์