สำหรับเจ้าของสุนัขหลาย ๆ ท่าน คงเคยพบเห็นอาการผิดปกติและความเจ็บป่วยต่าง ๆ ของน้องหมามาบ้าง เช่น อาการซึม เบื่ออาหาร มีไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว ไอ จาม ขากเสมหะ เจ็บขา หรือแม้กระทั่งมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง แต่หมอเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะได้เจอกับอาการสุนัขถ่ายเป็นน้ำมัน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีเทาซึ่งเป็นหนึ่งในอาการที่บ่งชี้ว่า “ตับอ่อนของน้องหมาตัวนี้ อาจทำหน้าที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว”
ตับอ่อนคืออะไร ทำไมสร้างปัญหากับอึน้องหมา
ก่อนอื่นเรามารู้จักกับหน้าที่ของตับอ่อนกัน ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้ ๆ กับลำไส้เล็กส่วนต้น มีส่วนประกอบด้วยกันทั้งหมด 2 ส่วน คือ
- ส่วนตับอ่อนที่ผลิตน้ำย่อย (Exocrine Pancreas) ทั้งที่ย่อยแป้ง+น้ำตาล และที่ใช้ย่อยโปรตีนกับไขมัน น้ำย่อยส่วนนี้ของตับอ่อนที่จะถูกหลั่งออกมาที่ลำไส้เล็ก
- ส่วนตับอ่อนที่ผลิตฮอร์โมน (Endocrine Pancreas) ได้แก่ ฮอร์โมนอินซูลินและกลูคากอนที่มีผลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
โดยส่วนที่ผลิตฮอร์โมนนั้น ถ้ามีความผิดปกติไป ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน แต่ในส่วนที่ผลิตน้ำย่อยนั้น ถ้าผิดปกติไปอาจจะทำให้น้องหมามีอาการอยากอาหารมากขึ้น แต่น้ำหนักลดลง ขนร่วงบาง ผิวหนังสีเข้ม ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นน้ำมัน หรือมีอุจจาระสีเทาได้ ( Steatorrhea ) ซึ่งเรียกความผิดปกตินี้ว่า Exocrine Pancreatic Insufficiency หรือ EPI จะเรียกแบบไทย ๆ ก็อาจจะเรียกว่า โรคที่ตับอ่อนหลั่งเอนไซม์น้อยกว่าปกติ หรือโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดตามมาจากการขาดน้ำย่อยที่ผลิตจากตับอ่อนนั่นเอง
2 สาเหตุของโรคตับอ่อน ที่ทำให้อึหมามีน้ำมัน
สำหรับโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง จะมีสาเหตุอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ได้แก่
1. ปัญหาทางพันธุกรรมของสุนัข
โดยพบเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมในสุนัขสายพันธุ์ ได้แก่ German Shepherd , Chow Chows, Cavalier King Charles Spaniels, Rough-Coated Collie และ English setters เป็นต้น
2. ปัญหาจากการติดเชื้อและกระทบกระเทือนที่ตับอ่อน ซึ่งภายหลังทำให้อึหมามีน้ำมัน
ภาพแสดงลักษณะสุนัขที่เป็นโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง หรือ EPI โดยสุนัขจะมีลักษณะผอม ขนร่วง และผิวหนังมีสีเข้ม
สำหรับอาการสุนัขอุจจาระมีน้ำมันที่เกิดจากโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง ส่วนใหญ่พบว่า ความผิดปกติหลักมักมาจากภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง อย่างไรก็ตามในหลาย ๆ ตัวอาจเกิดแบบไม่ทราบสาเหตุได้
การตรวจวินิจฉัยโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง
ในส่วนของการตรวจวินิจฉัยนั้น จะทำได้โดยการตรวจเลือดผ่านวิธีการที่เรียกว่า Canine Trypsinogen-like Immunoassay (cTLI) ) ซึ่งถ้าผลของค่า cTLI ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ถือว่าสุนัขเป็นโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง (Exocrine Pancreatic Insufficiency หรือ EPI)
แนวทางการรักษาอึหมาเป็นน้ำมัน จากโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง
ภาพแสดงสุนัขที่เป็นโรค EPI หลังรักษาทางยาและปรับอาหารเป็นระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และขนยาวหนาใกล้เคียงปกติ
การรักษาโรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง (Exocrine Pancreatic Insufficiency หรือ EPI) อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถประคองอาการได้ด้วยการใช้ยาที่สัตวแพทย์จ่ายให้ ร่วมกับการปรับอาหารการกินในสุนัข ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตน้องดีขึ้น และทำให้ลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับสุนัขปกติมากที่สุด
โดยยาหลักที่ใช้ในการรักษา คือ เอนไซม์สังเคราะห์ผงที่ช่วยย่อยอาหารในแต่ละมื้อ (ต้องกินตลอดชีวิต) รวมทั้งเสริมสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็น ได้แก่ Cobalamin (Vitamin B12) Vitamin E และ Zinc เป็นต้น ร่วมกับการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารไขมันต่ำ ไฟเบอร์ต่ำ จะทำให้อาการผิดปกติในทางเดินอาหารลดลงได้
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: แมวท้องเสีย สุนัขถ่ายเหลวเกิดจากอะไร ป้องกันยังไง
แหล่งอ้างอิง: Exocrine Pancreatic Insufficiency in Dogs
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์