ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงทุกตัว บางตัวเป็นโรคที่มีอาการเจ็บป่วยชัดเจน เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร มีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว หรือบางตัวเป็นโรคผิวหนัง เป็นพยาธิเม็ดเลือด โรคเหล่านี้เจ้าของสามารถมองเห็นความผิดปกติได้เด่นชัดและพามาพบสัตวแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ซึ่งถือว่าไม่ใช่โรคที่พบได้บ่อยหรือพบได้ทั่วไป การแสดงออกของอาการในแต่ละครั้งจึงดูค่อนข้างยาก และอาการของโรคบางชนิดก็รุนแรงและน่ากลัวถึงขั้นที่เจ้าของทำอะไรไม่ถูก เช่น อาการชัก เดินวน เดินเซ ตากระตุก กลิ้งตัว และอัมพาต ซึ่งสิ่งที่จะสามารถช่วยลดความกังวลเมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักมีอาการดังกล่าว คือการทำความเข้าใจกับลักษณะอาการของโรคทางระบบประสาทที่เจ้าของจะต้องเผชิญนั่นเอง
สำหรับอาการที่พบได้บ่อย คือ สุนัขเดินวนไม่หยุด เดินแบบไร้ทิศทาง สิ่งเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับโรคทางระบบประสาท ส่วนสาเหตุจะเกิดได้จากอะไรบ้าง สมองส่วนไหนที่ผิดปกติ การดูแลรักษาสุนัขที่เดินวนต้องทำอย่างไร เรามาเรียนรู้กันไปพร้อม ๆ กันได้เลย
อาการสุนัขเดินวนไม่หยุด
เกี่ยวข้องกับความผิดปกติสมอง
อาการสุนัขเดินวนไม่หยุด หรือ Circling ในสุนัข เจ้าของจะสามารถสังเกตได้จากลักษณะดังต่อไปนี้
- สุนัขเดินวนไปทางเดียวกันเป็นวงกลม
- สุนัขไม่สามารถหยุดเดินวนเองได้
- การก้าวเดินของสุนัขจะไม่สามารถเดินเป็นเส้นตรงได้
ซึ่งความผิดปกตินี้จะแตกต่างจากการเดินวนเป็นวงกลมก่อนล้มตัวลงนอน หรือการเดินวนเพื่องับหางตัวเองของสุนัข ที่สามารถพบได้โดยทั่วไปในสุนัขปกติ ไม่ใช่ความผิดปกติที่มาจากระบบประสาทแต่อย่างใด
ตัวอย่างภาพ: MRI สองสุนัขปกติ A ,D และผิดปกติ B , C , E จากบทความเผยแพร่ Magnetic resonance imaging signs of high intraventricular pressure – comparison of findings in dogs with clinically relevant internal hydrocephalus and asymptomatic dogs with ventriculomegaly
จากผลการศึกษาสมองของสุนัขปกติและที่มีอาการเดินวนไม่หยุด พบว่าสัมพันธ์กับรอยโรคของสมองส่วนหน้า และระบบการรับรู้ตำแหน่งและการทรงตัว ซึ่งอยู่ในหูชั้นในและก้านสมอง การเกิดรอยโรคหรือความผิดปกติเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอก หรือการมีเลือดออกในสมอง ซึ่งต้องมีการตรวจทางระบบประสาท รวมถึงซักประวัติของสุนัขก่อนเกิดอาการอย่างละเอียด รวมถึงในบางเคสอาจต้องใช้เครื่องมือช่วยวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ MRI และ CT scan เป็นต้น
5 สาเหตุที่ทำให้สุนัขเดินวนไม่หยุด
เพื่อให้เจ้าของได้พอทราบสาเหตุคร่าว ๆ ของการเกิดอาการสุนัขเดินวนไม่หยุด เรามาเรียนรู้กันค่ะ
1. อุบัติเหตุทำให้สมองผิดปกติ
เมื่อสมองมีการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ ก็มีโอกาสทำให้สมองเกิดเลือดออก สมองบวมน้ำ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ทั้งอาการชัก อาการเดินวน คอเอียง ไม่รู้สึกตัว หรือบางตัวอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยน ซึ่งสุนัขต้องได้รับการรักษาโดยเร็วหลังเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดโอกาสที่สมองจะเสียหายเพิ่มเติม
2. ภาวะติดเชื้อในสมอง ทำให้มีอาการสุนัขเดินวนไม่หยุดได้
สำหรับการติดเชื้อที่ทำให้สมองอักเสบ ก็เป็นสาเหตุนึงในการทำให้เกิดอาการเดินวนได้ การรักษาต้องรักษาที่เชื้อสาเหตุก่อน แต่ในบางกรณีแม้รักษาการติดเชื้อได้แล้ว แต่การอักเสบที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้อาการทางระบบประสาทอยู่ต่อไปได้ เช่น สมองอักเสบจากพยาธิเม็ดเลือด ไข้หัดสุนัข เป็นต้น
3. การเกิดหูชั้นในอักเสบ ส่งผลต่อการทรงตัวที่ผิดปกติไป
การเกิดหูชั้นในอักเสบเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้ โดยอาจเกิดมาจากการติดเชื้อหรือกระทบกระเทือนในช่องหูและหูชั้นนอก ทำให้เกิดหูชั้นในอักเสบตามมา น้องหมามักมีอาการเดินวน ร่วมกับหัวเอียง และตากระตุกได้
4. พบเนื้องอกในสมอง ส่วนที่มีผลต่ออาการสุนัขเดินวนไม่หยุด
ถ้าเนื้องอกนั้นไปมีผลต่อสมองส่วนหน้า หรือระบบรับรู้ตำแหน่งและทรงตัวในก้านสมอง ก็มีผลให้เกิดอาการเดินวนได้
5. โรคสมองเสื่อมในสุนัข ( Canine Cognitive Dysfunction )
คือกลุ่มอาการที่สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ การรับรู้ หรือการจดจำ ซึ่งคล้ายกับโรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer ) ในคน ทั้งกระบวนการของการเกิดโรคและอาการที่เกิดขึ้น สุนัขที่เป็นโรคสมองเสื่อมนี้อาจพบทั้งอาการเดินวน และอาการหลงลืมในเรื่องการกิน สถานที่ขับถ่าย บางตัวอาจเซื่องซึมหรือดุขึ้น รวมถึงมีวงจรการหลับ-ตื่นที่ผิดปกติ อาจตื่นนอนและร้องกลางดึกด้วย
นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ความผิดปกติใด ๆ ที่มีผลต่อสมองส่วนหน้า และส่วนควบคุมการทรงตัวก็อาจมีผลให้เกิดการเดินวนได้ทั้งสิ้น
จะรักษาหรือแก้ไขอย่างไร เมื่อพบสุนัขเดินวนไม่หยุด
เมื่อเจ้าของได้อ่านบทความนี้แล้ว และหันไปมองน้องหมาของคุณซึ่งกำลังเดินวนอยู่นั้น ถ้าคิดว่าการเดินวนดังกล่าวเป็นความผิดปกติของระบบประสาทอย่างที่หมอเล่าไป เจ้าของควรรีบพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์ทุกกรณี เนื่องจากอาการนี้เกิดจากความผิดปกติที่ไม่สามารถหายได้เอง และไม่สามารถใช้การปฐมพยาบาลที่บ้านเบื้องต้นได้ ดังนั้นจึงควรหาสาเหตุให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดผลในการรักษาที่ดี และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับน้องหมา
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: สุนัขชอบกัดแทะ เพราะคันฟันใช่หรือไม่ แก้ไขอย่างไร
แหล่งอ้างอิง: Pacing and Circling in Dogs
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์