แมวกวัก…หนึ่งในสัญลักษณ์นำโชคด้านค้าขาย ที่หลายคนมีความเชื่อกันว่าเจ้าแมวกวักจะช่วยเรียกเงินเรียกทองให้ไหลมาเทมาได้ เรื่องราวของแมวกวักนั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนาน กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกรวมถึงในไทยเราด้วย วันนี้เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับตำนานแมวกวัก ความหมาย ความเชื่อและท่าทางต่าง ๆ ที่ช่วยนำโชคกัน
แมวกวัก ความหมายและที่มาของตำนาน
แมวกวักที่เราเห็นกันจนชินตาตามหน้าร้านค้าสะดวกซื้อ จริง ๆ แล้วมีชื่อว่า Manekineko (まねきねこ) ซึ่งมีความหมายตรงตัวตามภาษาญี่ปุ่นว่า “แมวกวักหรือแมวนำโชค” เป็นคำเรียกสิริมงคลตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น สำหรับตำนานแมวกวักมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868 ) และมีหลากหลายเรื่องเล่าที่สืบทอดกันต่อมา ทำให้บางครั้งเราจะได้ยินเรื่องแมวกวักที่มีรายละเอียดต่างกันไปบ้าง เช่น เรื่องราวที่จะเล่าให้เพื่อน ๆ ได้ฟังดังต่อไปนี้
ตำนานเรื่องที่ 1 ของแมวกวักและความหมาย
แหล่งอ้างอิง: ตำนานแมวของญี่ปุ่น
ตำนานแรกถือเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นมีการเล่าขานถึงมากที่สุด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับแมวที่มีชื่อว่า “ทามะ” เจ้าเหมียวที่อาศัยอยู่กับนักบวชชราในวัดโกโตคุจิอยู่ทางทิศตะวันตกของโตเกียว ในทุก ๆ วันนักบวชชราที่เลี้ยงเจ้าทามะจะคอยแบ่งอาหารที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยให้กับเจ้าแมวเสมอ ถึงแม้ว่านักบวชชราจะลำบากสักแค่ไหน ก็ไม่เคยทอดทิ้งทามะที่เป็นทั้งสัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก และเป็นเพื่อนที่อยู่ด้วยกันมาตลอด
แต่แล้ว…อยู่มาวันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่มีอากาศหนาวจัด นักบวชชราผู้นี้รู้สึกทนความเหน็บหนาวไม่ไหว จึงเดินไปชงชาเพื่อมาดื่มให้ร่างกายอบอุ่น แต่ทว่าไม่มีใบชาหลงเหลืออยู่เลยสักใบเดียว นักบวชชราร้องไห้ออกมาและทรุดตัวลงพลางตัดพ้อกับทามะว่า “หากเจ้าสามารถช่วยสิ่งใดได้บ้างก็คงจะดี” แมวน้อยทามะมองนักชวชชราอย่างสงสารและเศร้าใจ ด้วยความที่เป็นเพียงสัตว์ตัวเล็ก ๆ มิอาจจะช่วยเหลือนักบวชชราได้ มันจึงเดินวนไปเดินมาคล้ายกับว่ากำลังใช้ความคิด บางทีก็นั่งลงยกขาทำความสะอาดตัวเองเป็นระยะ แล้วจึงตัดสินใจเดินไปนั่งอยู่ด้านหน้าประตูของวัดโกโตคุจิ ทามะนั่งไปพร้อมกับเลียขาและถูกับใบหน้าของตัวเองด้วย เป็นเวลาเดียวกันกับเศรษฐีคนหนึ่ง (บางตำนานบอกว่าเป็นซามุไร) วิ่งมาหลบฝนใต้ต้นไม้ใหญ่ไม่ไกลจากวัดเท่าใดนัก ทันใดนั้นเค้าก็พลันเหลือบตาไปเห็นเจ้าแมวน้อยทามะทำท่าเหมือนกวักมือเรียกให้เข้าไปหลบฝนในวัด
เมื่อฝนตกหนักขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับมีฟ้าร้องฟ้าแลบเป็นระยะ ๆ เศรษฐีจึงตัดสินใจเดินเข้าไปหลบฝนในวัด เพียงไม่นานหลังจากที่เศรษฐีเดินเข้าวัดมา ต้นไม้ที่เขาใช้หลบฝนเมื่อสักครู่ก็โดนฟ้าผ่าลงมา เศรษฐีเห็นดังนั้นก็รู้สึกขอบคุณเจ้าทามะเป็นอย่างมาก เมื่อเศรษฐีได้พักผ่อนในวัดสักพักหนึ่งจนหายตกใจเหตุการณ์ฟ้าผ่าแล้ว เขาก็มองไปรอบ ๆ วัดแล้วก็พบว่า วัดดังกล่าวดูทรุดโทรมเป็นอย่างมาก เมื่อเขาเดินสำรวจไปรอบ ๆ บริเวณวัด จึงได้พบกับนักบวชชรานอนหลับในท่าขดตัวจากอากาศหนาวอยู่ ยิ่งทำให้เขารู้สึกเกิดความสงสารขึ้นมาอย่างจับใจ จึงตัดสินใจที่จะช่วยเหลือนักบวชชราและบูรณะวัดนี้ขึ้นมาใหม่ อีกนัยหนึ่งก็เพื่อตอบแทนเจ้าทามะที่ช่วยชีวิตเขาด้วย ซึ่งเขาได้ช่วยส่งเสริมให้คนอื่น ๆ มาทำบุญที่วัดแห่งนี้ ทำให้วัดโกโตคุจิมีความเจริญขึ้นและมีชื่อเสียงขึ้นมา
หลายปีต่อมาเมื่อแมวทามะเสียชีวิตลงก็ได้รับการฝังในสุสานพิเศษ และมีการทำรูปปั้นแมวกวักที่ยกเท้าขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความโชคดีและร่ำรวยให้กับคนที่นำรูปแมวไปตั้งไว้ ซึ่งจากตำนานแมวกวักพบว่าเศรษฐีผู้นั้นแท้จริงแล้วคือ Ii Naosuke ผู้ครองเมือง Hikone นั่นเอง สุสานของเขาปัจจุบันนี้ก็อยู่ที่วัดแห่งนี้ด้วย
ตำนานเรื่องที่ 2 ของแมวกวักและความหมาย
สำหรับอีกตำนานนึงที่มีการกล่าวถึงมากไม่แพ้กัน คือ ตำนานของหญิงชราฐานะยากจนคนนึงที่เลี้ยงแมวไว้หนึ่งตัว กินนอนด้วยกันอยู่ตลอด เรียกว่าเป็นคู่หูร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา มีมากก็แบ่งมาก มีน้อยก็อดมื้อกินมื้อด้วยกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง หญิงชราก็ไม่อาจแบกรับภาระการเลี้ยงดูเจ้าแมวน้อยต่อไปได้ไหวแล้ว และคิดว่าถ้าแมวของเธอได้ไปเจอเจ้าของที่เลี้ยงดูได้ดีกว่าเธอก็น่าจะดีกว่า เธอจึงตัดสินใจปล่อยแมวน้อยไป ตกดึกคืนนั้นในระหว่างที่หญิงชราหลับอยู่ ก็ฝันถึงเจ้าแมวเหมียวเพื่อนยาก แมวของเธอมาบอกกับเธอว่า ให้ลองปั้นรูปปั้นแมวจากดินเหนียวดูสิแล้วจะโชคดี!!!
เมื่อเธอตื่นขึ้นมาจึงลองทำตามที่ฝัน ด้วยการปั้นรูปปั้นแมวด้วยดินเหนียว ทันใดนั้นก็มีคนแปลกหน้ามาขอซื้อรูปปั้นแมวของเธอ เธอจึงปั้นรูปปั้นแมวขึ้นมาอีกหลายชิ้นและเมื่อขายได้เงินมามากขึ้น เธอก็สามารถไปรับแมวตัวเดิมของเธอกลับมาอยู่ด้วยกันได้อีกครั้ง
ท่าทางแมวกวักมีความหมายอย่างไรบ้าง
นอกจากจะมีตำนานเรื่องที่มาที่ไปของแมวกวักแล้ว เรายังมีความหมายของท่าทางแมวกวักอื่น ๆ อีก เช่น
การยกขาหน้าซ้าย หมายถึง การเรียกลูกค้า
การยกขาหน้าขวา หมายถึง การเรียกโชคลาภ เงินทอง
การยกขาหน้าทั้ง 2 ข้าง หมายถึง การเรียกลูกค้าและโชคลาภพร้อม ๆ กัน
แต่เนื่องจากท่าทางดังกล่าวดูเหมือนการยกมือเพื่อยอมแพ้ จึงไม่เป็นที่นิยมมากนักในญี่ปุ่น โดยเราอาจเห็นการตั้งแมวกวักที่ยกขาหน้าซ้ายและขาหน้าขวาไว้คู่กันมากกว่า บางแหล่งข้อมูลบอกว่า แมวกวักที่ยกขาทั้ง 2 ข้างหมายถึง การปกป้องทั้งบ้านหรือธุรกิจของคุณ หรือเรียกโชคลาภใหญ่มาให้
แม้ว่าตำนานที่เกี่ยวข้องกับแมวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีมุมมองที่แตกต่างกันต่อเจ้าเหมียวทั้งดีและไม่ดี แต่คงไม่มีใครปฏิเสธความน่าหมั่นเขี้ยวที่มาพร้อมกับความเย่อหยิ่ง และความน่าเอ็นดูของแมวได้อีกต่อไป ด้วยจำนวนการเลี้ยงแมวที่มากขึ้นทุกวันในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาสแมวในไทยก็มีเพิ่มขึ้นแทบจะแซงทาสหมาไปแล้ว หวังว่าบทความนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนค่ะ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามมาทางเว็บไซต์ได้ เรามีบริการปรึกษาสัตวแพทย์ออนไลน์ หรือแอดไลน์ @deemmi เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: 8 วิธีน้องแมวอ้อน ที่เจ้าของต้องสังเกตให้ดี
แหล่งอ้างอิง: ตำนานแมวกวัก Manekineko
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์