เจ้าของน้องหมาหลาย ๆ ท่านโดยเฉพาะที่รับลูกสุนัขมาเลี้ยงใหม่ คงเคยประสบปัญหาที่ลูกสุนัขชอบกัดแทะสิ่งของภายในบ้าน เช่น แทะรองเท้า ตู้เตียง โซฟา ลามไปจนถึงแทะมือและเท้าของคนในบ้าน เจ้าของบางคนอาจคิดว่าพฤติกรรมกัดแทะที่เกิดขึ้นนี้ คงเป็นอาการ “หมาคันฟัน” ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนฟันน้ำนมเป็นฟันแท้ของสุนัข และเมื่อเปลี่ยนหมดแล้วอาการกัดแทะดังกล่าวก็น่าจะหายไป
สิ่งนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ และเราจะมีวิธีสอนไม่ให้น้องหมาตัวแสบเหล่านี้กัดแทะสิ่งของและมือของเราอย่างไร เรามาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันเลย
เปลี่ยนฟันชุดใหม่ทำให้สุนัขชอบกัดแทะจริงมั้ย
ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้ถึงสาเหตุที่น้องหมาชอบกัดแทะสิ่งของ เรามารู้จักกับรูปแบบชุดฟันในสุนัขกัน
ชุดฟันลูกสุนัขมีกี่แบบ และเปลี่ยนในช่วงไหนบ้าง
ฟันของสุนัขเหมือนกันกับคน คือมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 ชุด ได้แก่ ฟันน้ำนม 28 ซี่ และฟันแท้ 42 ซี่ โดยฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้นเมื่อสุนัขอายุ 3-4 สัปดาห์ และจะขึ้นครบ 28 ซี่เมื่ออายุราว ๆ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งก็ตรงกับช่วงที่สุนัขจะหย่านมโดยสมบูรณ์และเริ่มทานอาหารได้เอง สำหรับฟันแท้ซี่แรกซึ่งเป็นฟันตัดด้านหน้าคู่กลาง จะเริ่มงอกออกมาเมื่อสุนัขอายุราว ๆ 3 เดือนครึ่ง และจะทยอยขึ้นจนครบเมื่ออายุ 6 เดือน ( อาจบวกลบเล็กน้อยในน้องหมาแต่ละตัว )
ฟันชุดใหม่เป็นสาเหตุให้ลูกสุนัขชอบกัดแทะจริงหรือไม่
การเปลี่ยนชุดฟันของลูกสุนัขทำให้เกิดอาการคันฟันได้จริง ดังนั้นในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนฟันน้ำนมและฟันแท้ จึงทำให้ลูกสุนัขกลายเป็น “นักกัดแทะตัวยง” ที่สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของหลาย ๆ ท่านได้ แต่นิสัยของสุนัขชอบกัดแทะ ไม่ได้มีสาเหตุจากการเปลี่ยนชุดฟันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก ได้แก่
- ความอยากรู้อยากเห็นของลูกสุนัข ทำให้เกิดการใช้ปากช่วยงับ คาบ และกัดแทะสิ่งต่าง ๆ เพื่อคลายความสงสัย และสร้างการเรียนรู้
- การแยกลูกสุนัขออกจากแม่และพี่น้องเร็วเกินไป โดยเฉพาะถ้าแยกลูกสุนัขออกมาก่อนอายุ 6 สัปดาห์ อาจทำให้สุนัขขาดการเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมกับตัวอื่นอย่างถูกต้อง สำหรับลูกสุนัขที่ยังอยู่กับแม่และพี่น้อง งานวิจัยพบว่าจะมีโอกาสแสดงพฤติกรรมกัดแทะได้น้อยกว่า เพราะหากเกิดการกัดกันอย่างรุนแรงจะทำให้อีกตัวที่ถูกกัด ร้องและหยุดเล่นทันที หรือถ้าแม่สุนัขโดนลูก ๆ กัดก็อาจใช้วิธีการงับนิ่ง ๆ ตอบเพื่อเป็นการปรามลูกที่เล่นรุนแรงเกินไป
- การฝึกสอนที่ไม่ถูกต้อง เจ้าของบางท่านอาจเป็นมือใหม่หัดเลี้ยง ยังไม่ทราบวิธีรับมือกับการกัดแทะของลูกสุนัขซึ่งเป็นพฤติกรรมของการชวนเล่นด้วย ดังนั้นจึงไม่ห้ามปรามน้องเมื่อเข้ามางับมือหรือเท้า ซึ่งกลายเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมการกัดแทะมากยิ่งขึ้น
- ลูกสุนัขมีความไม่มั่นคงทางจิตใจ พฤติกรรมชอบกัดแทะสิ่งของ บางครั้งอาจเกิดจากสุนัขมีความเครียดหรือเบื่อก็เป็นได้
ทำอย่างไรไม่ให้สุนัขกัดแทะสิ่งของและมือคน
เมื่อเราทราบสาเหตุคร่าว ๆ ที่ทำให้น้องหมาของเรามีพฤติกรรมไม่น่ารัก ชอบกัดชอบแทะไปทั่วแล้ว เรามาเรียนรู้วิธีการแก้ไขหรือลดพฤติกรรมนี้กัน
พฤติกรรมลูกสุนัขชอบกัดแทะเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของ
น้องหมาบางตัวไม่ได้มีนิสัยชอบงับมือหรือเท้าของเจ้าของ แต่มีความสุขกับการทำลายล้างสิ่งของภายในบ้าน เช่น กัดแทะขอบเก้าอื้ เฟอร์เจอร์หรือถ้วยชาม เป็นต้น สำหรับวิธีฝึกสอนเพื่อปรับพฤติกรรมน้องหมาเหล่านี้สามารถทำได้ดังนี้
- กักบริเวณน้องหมาและเก็บข้าวของต่าง ๆ ออกจากห้อง วิธีนี้จะเหมาะกับบ้านที่มีบริเวณ ซึ่งสามารถกั้นคอกสร้างพื้นที่บางส่วนไว้ให้สุนัขได้ แต่เพื่อไม่ให้น้องเครียดจนเกินไปจากการจำกัดบริเวณ เราสามารถนำของที่สามารถกัดแทะได้ เช่น ตุ๊กตา มาไว้ให้น้องเล่นแทน เป็นต้น
- ทำให้เกิดรสชาติหรือความรู้สึกไม่ดีกับสิ่งของที่น้องหมาชอบกัด เช่น การเอาน้ำส้มสายชู บอระเพ็ด หรือสเปรย์ ซึ่งมีกลิ่นหรือรสที่สุนัขไม่ชอบ มาพ่นหรือทาไว้บนสิ่งของที่น้องหมาชอบเข้าไปกัดแทะเล่น อย่างขาตู้ ขาโต๊ะ รองเท้า เป็นต้น จะช่วยป้องกันการกัดแทะของน้องหมาได้
- ดุทุกครั้งที่น้องหมากัดแทะสิ่งของที่ไม่สมควรกัด โดยการดุสุนัขควรใช้คำคำเดียวกันทุกครั้ง เช่น ไม่ หยุด หรือ No เป็นต้น นอกจากการดุแล้ว การทำเสียงดังใกล้ ๆ ให้น้องหมาตกใจก็อาจเป็นอีกวิธีนึงที่ช่วยได้ เมื่อสุนัขโดนดุจนยอมปล่อยสิ่งของออกจากปากแล้ว ให้เอาของเล่นหรือแท่งขัดฟันที่เหมาะสำหรับการกัดแทะมาให้แทน เพื่อเป็นการชมน้องหมาที่สามารถเรียนรู้ในคำสั่งที่เราพูดออกไป
พฤติกรรมลูกสุนัขชอบกัดแทะมือเท้าคน
ในบางครั้งน้องหมาก็มองเราเป็นเหมือนเพื่อนเล่น ทำให้การหยอกล้อมีความรุนแรงคล้ายการกัดแทะสิ่งของ แต่เพื่อให้น้องเรียนรู้ว่าพฤติกรรมนี้อาจไม่เหมาะสมนัก สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกเพื่อให้น้องหมาหยุดการกัดแทะมือเท้าเรา คือ ร้องเพื่อแสดงความเจ็บปวด โดยเน้นการทำเสียงแหลมสูงซึ่งคล้ายกับเสียงสุนัขร้องเมื่อโดนกัด และเราต้องหยุดเล่นกับน้องหมาทันที จะเดินหนีหรือหันหลังให้ด้วยก็ได้ ทำแบบนี้นานราว ๆ 20 วินาที – 1 นาที จากนั้นค่อยเริ่มต้นเข้าหาและเล่นกับน้องใหม่ ถ้าน้องหมายังคงไม่เข้าใจและต้องการกัดแทะมือเท้าเราต่อ ก็ให้ทำแบบเดิมซ้ำ ๆ คือ ร้อง หยุดเล่น และหันหนีไปเรื่อย ๆ แนะนำว่าไม่ควรสะบัดมือให้สุนัขปล่อย เพราะบางตัวจะยิ่งรู้สึกว่าเราเล่นด้วย
การหยุดพฤติกรรมกัดแทะด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ทาสิ่งที่มีรสชาติขมหรือกลิ่นแรงไว้บนมือก่อนเล่นกับน้องก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะเมื่อน้องเข้ามางับมือเราก็จะหยุดทันทีจากการได้กลิ่นหรือรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ สำหรับวิธีการจัดการกับน้องหมาที่ชอบกัดแทะมือ ทุกคนในบ้านควรเข้าใจตรงกันและปฏิบัติตัวในทิศทางเดียวกัน เช่น การเลือกใช้คำสั่งห้ามปรามเดียวกัน เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อตัวสุนัข และทำให้การฝึกล้มเหลวได้
ข้อห้ามในการฝึก เพื่อแก้ไขพฤติกรรมสุนัขชอบกัดแทะ
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อน้องหมากัดมือหรือสิ่งของ คือ การตี เพราะนอกจากจะหยุดน้องหมาได้ชั่วคราวแล้ว ยังทำให้เกิดความหวาดกลัวในการเข้าใกล้คนมากขึ้น การตีหรือทำร้ายให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ได้สร้างความเข้าใจอย่างถาวรให้สุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีปากทำโทษ ซึ่งอาจทำให้สุนัขเกิดความโมโหมากขึ้น และแสดงพฤติกรรมการกัดที่รุนแรงขึ้นก็ได้
ช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการแก้ไขพฤติกรรมสุนัขชอบกัดแทะ
การหยุดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมของน้องหมาอย่างการกัดแทะสิ่งของ เจ้าของต้องใช้ความใจเย็น อดทน และฝึกน้องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ การฝึกที่ดีควรเริ่มตั้งแต่สุนัขยังเด็ก เพราะจะง่ายต่อการจดจำและเรียนรู้ของสัตว์มากกว่าการเริ่มฝึกกับสุนัขที่โตเต็มไว สิ่งสำคัญที่เจ้าของควรรู้คือ สัตว์เลี้ยงแต่ละตัวจะเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ มาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งรวมถึงวิธีการเลี้ยงดูของเจ้าของด้วยเช่นกัน ดังนั้นการตั้งต้นฝึกสอนที่ดีให้กับลูกสัตว์จะช่วยให้น้องเติบโตมาโดยมีนิสัยที่ดีได้ หมอเอาใจช่วยทุกบ้านให้ฝึกสอนน้องหมาได้สำเร็จนะคะ
หากคุณกำลังมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาร่วมเป็น Partner กับ Deemmi Pet สิคะ เรามีทีมการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line: @deemmipet
บทความน่าสนใจของ DEEMMI: 7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับเรื่องสุนัขปอดอักเสบ
แหล่งอ้างอิง: How to stop your dog’s chewing and biting problem
สพ.ญ. ภสดล อนุรักษ์โอฬาร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์